CIBA_มธบ.ร่วมกับ ธ.ออมสินและสภาวิชาชีพบัญชี ลงพื้นที่เกาะเกร็ดต่อยอดโครงการออมสินยุวพัฒน์ แนะวิสาหกิจชุมชนทำบัญชีแบบง่าย

18 Oct 2019
ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารออมสิน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดทำโครงการ ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้เรียนจากภาคทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพชุมชน ทั้งในด้านการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการ การดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดการพัฒนารายได้และความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วิทยาลัยฯ ได้เลือกพื้นที่ชุมชนคลองศาลากุล ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นชุมชนเป้าหมาย ล่าสุดจากการลงพื้นที่ นักศึกษาและคณาจารย์ได้แนะนำวิสาหกิจชุมชนจัดทำบัญชีแบบง่าย โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสินพร้อมด้วยบุคลากรของสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ (สภาวิชาชีพบัญชี) และนักศึกษา มธบ.ร่วมให้ความรู้แก่ชุมชน
CIBA_มธบ.ร่วมกับ ธ.ออมสินและสภาวิชาชีพบัญชี ลงพื้นที่เกาะเกร็ดต่อยอดโครงการออมสินยุวพัฒน์ แนะวิสาหกิจชุมชนทำบัญชีแบบง่าย

นายประเสริฐ หวังรัตนปราณี อุปนายกและประธานคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการทำบัญชี กล่าวว่า ที่ผ่านมาวิสาหกิจชุมชน ร้านค้า หรือธุรกิจขนาดเล็กจะมุ่งความสนใจไปที่การค้าขายและยอดขายมากกว่าการทำบัญชีให้ถูกต้อง แม้ขายสินค้าดีแต่ไม่มีกำไรเพราะไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริง กลายเป็นจุดอ่อนทางธุรกิจ ดังนั้นทางสภาวิชาชีพบัญชี จึงได้จัดทำแอพพลิเคชั่น "SME สบายใจ" เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้เข้าสู่ระบบบัญชีเดียว ตามนโยบายของภาครัฐ โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถทำรายการซื้อ-ขาย-จ่าย-รับ ได้อย่างสะดวกผ่านการดาวน์โหลดในระบบแอนดรอยด์ เพียงแค่มีมือถือหรือแท็บเล็ตก็สามารถเริ่มต้นใช้งานได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ซึ่งจะช่วยให้วิสาหกิจชุมชนหรือคนที่ทำธุรกิจร้านค้าทำบัญชีได้ง่ายขึ้น แม้ไม่มีทักษะความรู้ด้านบัญชี และยังช่วยลดความผิดพลาดในการบันทึกบัญชี ไม่ต้องกังวลเรื่องการปิดงบ

"การลงพื้นที่มาให้ความรู้ด้านการทำบัญชีผ่านแอพพลิเคชั่นแก่ชุมชนจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กบันทึกบัญชีได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ไม่มีทักษะบัญชีก็สามารถทำได้ง่าย ที่สำคัญสามารถนำงบที่ถูกต้องมาบริหารธุรกิจและวางแผนการตลาดได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนสร้างอาชีพและเติบโตขึ้นได้" นายประเสริฐ กล่าว

นายสมวงศ์ บำรุงรส ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 5 กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ธนาคารออมสินได้ทำ MOU ร่วมกับ มธบ.เพื่อจัดทำโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โดยทางมธบ.จะเฟ้นหานักศึกษา เพื่อลงพื้นที่ค้นหาองค์กร ชุมชนหรือกลุ่มอาชีพที่น่าสนใจมานำเสนอให้ธนาคาร โดยเบื้องต้นนักศึกษาต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะไปพัฒนาอะไรในชุมชน ซึ่งทางธนาคารจะให้ทุนจำนวน 1 ล้านบาท มอบให้มหาวิทยาลัยนำไปลงพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีระยะเวลา 1 ปี เมื่อจบโครงการแล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะต้องนำเสนอว่าที่ผ่านมานักศึกษาและกลุ่มอาชีพได้อะไรจากส่วนนี้บ้าง และกลุ่มอาชีพหรือชุมชนสามารถพัฒนาตนเองหรือต่อยอดธุรกิจได้ด้วยตนเองหรือไม่

"โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ก่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ในส่วนของกลุ่มอาชีพหรือชุมชนได้องค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวางแผนการตลาด และการทำบัญชี ส่วนนักศึกษาจะได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับชุมชน โดยการนำความรู้ของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาผสมผสานกับความรู้ของนักศึกษาเพื่อพัฒนาสินค้า และในส่วนสุดท้ายทางธนาคารออมสินได้ช่วยเหลือสังคม" นายสมวงศ์กล่าว

นางศศินา จิตอสิต ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรและเบเกอรี่ เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี กล่าวว่า เดิมปัญหาของกลุ่ม คือ ไม่มีพื้นที่ขายสินค้า เนื่องจากอยู่คนละฟากฝั่งกับชุมชนเกาะเกร็ด นักท่องเที่ยวมาไม่ถึงฝั่งนี้ ปัจจุบันอาศัยยอดขายจากการสั่งสินค้า และออกร้านตามโครงการต่างๆ ซึ่งการขนส่งค่อนข้างลำบาก แต่เมื่อมีโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้า และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัย ทำให้ยอดขายดีขึ้น อย่างไรก็ตามอยากให้โครงการดังกล่าวมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นโครงการที่ดีมาก ชาวบ้านได้รับความรู้ผ่านนักศึกษาจากหลายสาขาวิชา อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การทำบัญชี การวางแผนการตลาด เป็นต้น นอกจากนี้นักศึกษายังช่วยคิดค้นการต่อยอดสินค้า ด้วยการนำอาหารไปแปรรูปเพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และช่วยหาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะก่อให้เกิดธุรกิจที่ยั่งยืนในชุมชนอย่างแน่นอน

นางสาวบุษกร บุญถนอม (น้องฝน) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการบัญชี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี กล่าวว่า วันนี้ตนและเพื่อนๆ ได้ลงพื้นที่ต่อยอดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ซึ่งเป็นโครงการที่ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ร่วมกับธนาคารออมสิน โดยส่งเสริมให้นักศึกษานำความรู้ที่เรียนมา มาใช้พัฒนาชุมชนให้เกิดศักยภาพทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์ การบริการ และการทำบัญชี ในฐานะที่ตนเรียนสายบัญชี จึงได้มาแนะนำการทำบัญชีแก่คนในชุมชน ซึ่งเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับการลงบัญชี เพื่อให้ชาวบ้านเกิดมุมมองที่กว้างขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางธนาคารออมสินได้มาแนะนำการทำบัญชีครัวเรือนแล้ว ดังนั้นจึงอยากให้ชาวบ้านเลือกการทำบัญชีตามความถนัด เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องการลงผิดลงถูก ถ้าชาวบ้านทำบัญชีได้อย่างถูกต้องก็จะทราบถึงกำไรหรือขาดทุนในแต่ละวัน ตนเองรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในการให้ความรู้แก่คนในชุมชน เพราะนอกจากจะได้พัฒนาชุมชนแล้วยังได้พัฒนาตนเองด้วย

HTML::image( HTML::image( HTML::image(