ดร.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.เปิดเวทีสัมมนา "พัฒนาอุตสาหกรรมด้วยหลักการพึ่งพาอาศัยกันตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)" เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและพันธมิตร กว่า 200 คน เพื่อสร้างการตระหนักให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้วัสดุและพลังงานอย่างคุ้มค่า บนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ได้จริงในนิคมฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนรอบนิคมฯด้วยหลักการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งจะเป็นการยกระดับนิคมฯทุกแห่งทั่วประเทศที่เปิดดำเนินการแล้วสามารถเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้ภายในปี 2564
ส่วนของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรในภาคอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการของเสียที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม และการบริโภค สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม โดยนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Re-Process) ผ่านการออกแบบใหม่ (Re-Design) การสร้างคุณค่าใหม่ (Added Value) การสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation) การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) เพิ่มขึ้นทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการใช้ซ้ำ (Reuse) ซึ่งจะช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดลดปริมาณขยะจากการนำกลับเข้ามาสู่วงจรการผลิตได้ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานจึงถือเป็นการสร้างคุณค่าที่ดีขึ้นและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม รวมถึงการเพิ่มผลกำไรและศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
สำหรับการสัมมนาการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยหลักการพึ่งพาอาศัยกันตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์โดยวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านหลักการใช้ทรัพยากรร่วมกันและเศรษฐกิจหมุนเวียน แนวทางการดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในปัจจุบัน เช่น หลักการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Sharing Resource) และตัวอย่างของการจัดการแบบแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และเครือข่ายของงานในกระบวนการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนานิคมฯไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยเฉพาะในระดับ ECO Excellent และ ระดับ ECO World Class ในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป" ดร.สมจิณณ์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit