ทีเส็บจับมือ 4 หอการค้าต่างประเทศ เปิดประตูธุรกิจไมซ์ไทย สู่เวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ

25 Apr 2019
ทีเส็บ รุกพัฒนาธุรกิจไมซ์ไทยในตลาดกลุ่มประเทศระยะไกล ร่วมกับหอการค้าออสเตรเลีย อังกฤษ อเมริกา และเยอรมัน ลงนามความร่วมมือกลุ่มพันธมิตรเป็นแนวร่วมเจาะตลาดดึงงานและนักเดินทางธุรกิจไมซ์ในตลาดเป้าหมาย พร้อมเปิดประตูการจัดงานไมซ์ในประเทศไทยสู่ทุกภูมิภาคทั่วโลก
ทีเส็บจับมือ 4 หอการค้าต่างประเทศ เปิดประตูธุรกิจไมซ์ไทย สู่เวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์" ระหว่าง ทีเส็บ กับกลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศ (Foreign Alliance – FCA) ได้แก่ หอการค้าจาก 4 ประเทศกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ออสเตรเลีย อังกฤษ อเมริกา และเยอรมัน นับเป็นอีกก้าวสำคัญของทีเส็บในการพลิกโฉมบทบาทการผลักดันไมซ์ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับองค์กรต่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาไมซ์ไทยในตลาดต่างประเทศ ขยายการดำเนินงานเจาะตลาดไมซ์ระยะไกล (Long Haul) ในภูมิภาคโอเชียเนีย ยุโรป และอเมริกา นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายหลักตลาดไมซ์ระยะสั้นในภูมิภาคเอเซีย

"ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นมิติใหม่แห่งการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ไทยในกลุ่มตลาดระยะไกล มุ่งเน้นประเทศในภูมิภาคโอเชียเนีย ยุโรป และอเมริกา โดยเป็นครั้งแรกที่กลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศ ประกอบด้วย หอการค้าออสเตรเลีย อังกฤษ อเมริกา และเยอรมัน ลงนามความร่วมมือกับหน่วยราชการไทย ซึ่งกลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศมีสมาชิกกว่า 20,000 ราย ทั้งนักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบการค้าที่ดำเนินธุรกิจในภาคการค้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ เช่น เครือไมเนอร์ โฮเทล กรุ๊ป เครือแอคคอร์ โฮเทล เครือแมริออท ธุรกิจศูนย์ประชุม ธุรกิจน้ำมัน เหมืองแร่ อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมยานยนต์ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมตามนโยบาย 4.0 จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านไมซ์ของประเทศไทย ซึ่งทางกลุ่มหอการค้าทั้ง 4 ประเทศ เล็งเห็นความสำคัญในการใช้ไมซ์เป็นประตูสู่การพัฒนาการค้าและการลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน"

ภายใต้กรอบความร่วมมือพัฒนาธุรกิจไมซ์ ครอบคลุมการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติและการจัดงานไมซ์ การพัฒนาธุรกิจไมซ์ การส่งเสริมการตลาดไมซ์ การศึกษาวิจัยสำหรับธุรกิจไมซ์ และการพัฒนาบุคลากรเพื่อธุรกิจไมซ์

นายจิรุตถ์ กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือเบื้องต้นในการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ร่วมกัน จะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมการบริการ (Hospitality Service) เป็นหลัก เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มหอการค้าร่วมต่างประเทศมีการลงทุนอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้ง มีสาขาธุรกิจด้านการบริการกระจายอยู่ในทั่วโลก จึงมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือกับหน่วยราชการไทย ในการเป็นประตูสู่การดำเนินธุรกิจไมซ์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อศึกษาข้อมูลและทิศทางตลาดไมซ์ไทย ร่วมวางแผนพัฒนาการตลาดไมซ์กับทีเส็บ พร้อมเป็นประตูสู่การสร้างเครือข่ายกับพันธมิตรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ไทยในกลุ่มประเทศเป้าหมายเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการดึงงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมการตลาดและสนับสนุนงานที่เข้ามาจัดแล้วในประเทศไทย โดยพร้อมร่วมเชิญกลุ่มเป้าหมายและพันธมิตรเข้าร่วมงานเพื่อเสริมความแข็งแกร่งยกระดับงานไมซ์ในประเทศไทยให้เป็นงานระดับโลก โดยทางหอการค้าร่วมต่างประเทศจะร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลการตลาดของกลุ่มหอการค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งด้านทีเส็บก็พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจไมซ์ไทย ทั้งสถิติและการจัดงานไมซ์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจไมซ์ร่วมกันอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ทางกลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศ ยังมุ่งหวังให้ภาครัฐของไทยเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจไมซ์ไทยรองรับการแข่งขันในระดับโลก ได้แก่ การอำนวยความสะดวกในด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและจัดสร้างศูนย์ประชุม และการพัฒนาบุคลากรด้านไมซ์ในมาตรฐานระดับนานาชาติ พร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการด้านไมซ์ครบวงจร (One-Stop-Service) เพื่อเป็นประตูสู่การจัดงานไมซ์ในประเทศไทย อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการไมซ์และผู้จัดงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเด็นการจัดตั้งศูนย์บริการฯ นี้ ได้บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของทีเส็บ ภายใต้โครงการ Ease of Doing Business และร่างแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว

หลังจากเสร็จสิ้นการลงนามความร่วมมือ ทีเส็บเตรียมหารือกลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศ จัดทำแผนงานระยะแรกร่วมกันเป็นเวลาสองปี ผลักดันให้ความร่วมมือเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ในเบื้องต้นนี้ วางแผนร่วมกันดึงงานและสนับสนุนการจัดงานตามอุตสาหกรรมนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

"ทีเส็บมุ่งหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไมซ์ไทยในตลาดระยะไกลในภูมิภาคโอเชียเนีย ยุโรป และอเมริกาแล้ว ยังเป็นโอกาสดึงงานระดับนานาชาติให้กระจายการจัดงานไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดที่เป็นตลาดหลักในเมืองไมซ์ซิตี้ เช่น กรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น ช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ในแต่ละอุตสาหกรรม พัฒนาสร้างความเจริญให้กับทุกภูมิภาค กระจายรายได้สู่ชุมชนทั่วประเทศ" นายจิรุตถ์ กล่าว

ด้านนายเบนจามิน เคร็ก รองประธานหอการค้าออสเตรเลีย ในฐานะผู้แทนกลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศ กล่าวเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศ หรือ FCA และวัตถุประสงค์ของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับทีเส็บว่า FCA ได้ประสานความร่วมมือของหอการค้าต่างประเทศหลักๆ ในไทย คือ ออสเตรเลีย อังกฤษ อเมริกา และเยอรมนี ซึ่งรวมถึงสมาชิกของหอการค้าด้วย ความร่วมมือครั้งสำคัญนี้เป็นการสะท้อนเสียงอันเป็นหนึ่งเดียวของพวกเราในการเป็นตัวแทนสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ของไทย ซึ่งหมายถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับทีเส็บฉบับนี้ จะช่วยพัฒนาและขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่สมาชิกของเราและแก่ประเทศไทย

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างแบบแผนให้แก่งานพื้นฐานเบื้องต้นซึ่งทางเราทำร่วมกันกับทางทีเส็บเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย ทั้งยังเป็นการช่วยวางกรอบให้แก่งานพื้นฐานเพื่อความร่วมมือที่ดียิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป

"อุตสาหกรรมไมซ์เป็นสิ่งสำคัญ และจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวโดยรวมภายในประเทศไทย ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทย วัตถุประสงค์หลักของเราคือการเดินหน้าผลักดันการขยายขีดความสามารถของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางไมซ์ชั้นนำ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสำหรับภูมิภาคเอเชีย แต่ยังหมายรวมถึงระดับโลก และในภายภาคหน้าก็จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันน่ามหัศจรรย์ของไทย ซึ่งทางเราโชคดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาคส่วนนี้" นายเบนจามิน เคร็ก กล่าวสรุป

HTML::image( HTML::image(