นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 220 เมกะวัตต์ เมืองมินบู ประเทศเมียนมาร์ ในสัดส่วนร้อยละ 20 โดยลงทุนผ่าน บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด ในฐานะบริษัทย่อยของบริษัท คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์(COD) ในไตรมาส 2 ปี 2562 และภายหลัง COD บริษัทจะสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันที
สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาโครงการฯ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา Power Transmission and System Control ("DPTSC") ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงานและไฟฟ้า (Ministry of Electricity and Energy; MOEE) กำลังทดสอบระบบก่อนใช้แรงดันจริง (Cold Commissioning) ซึ่งหลังจากการทดสอบโดย MOEE และผู้รับซื้อไฟฟ้า (Electric Power Generation Enterprise; EPGE) เสร็จสิ้น คาดว่าโครงการจะสามารถเริ่ม COD เฟสที่ 1 ขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์DC ส่วนการเริ่ม COD ของเฟสที่ 2 3 และ 4 จะทยอยการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการหลังCOD 360 วันของแต่ละเฟสเป็นลำดับต่อไป
อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ ณ เมืองมินบู ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เป็นโครงการที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP โดยมีผู้ลงทุนหลักคือ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) ("ECF"), บริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ("META") บริษัท สแกน อินเตอร์จำกัด (มหาชน) ("SCN") และ Noble Planet PTE. Ltd. ("NP")
ได้รับสัมปทานเพื่อพัฒนาและดำเนินงานแบบ BOT (Built-Operate-Transfer) ระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ 0.1275 USD / kWh แบ่งเป็นระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด 4 ระยะ โดย 3 ระยะแรกมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 50 MW ระยะสุดท้าย 70 MW ขนาดพื้นที่รวมโครงการ 836 เอเคอร์ หรือเท่ากับ 2,115 ไร่ ได้รับสิทธิเช่าพื้นที่จากรัฐบาลและบริษัทในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เมื่อมีการผลิตไฟแล้วจะขายให้กับElectric Power Generation Enterprise ("EPGE"), กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 350,000,000 kWh/ปี รองรับการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 217,256 ครัวเรือน สอดคล้องกับความปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น คาดการณ์อัตราการเติบโตความต้องการการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยถึงร้อยละ 11.7 ต่อปี อีกทั้งการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าของเมียนมาร์มีเพียงแค่ร้อยละ 34 ณ ปี 2558 คาดว่าการพัฒนาด้านพลังงานเพื่อให้การเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนที่อัตราการเติบโตดังกล่าว จะทำให้การเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 87 ภายในปี 2573 ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในประเทศเมียนมาร์ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์แล้วจำนวน 5,134 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 ถึง 2564 อีก 996 MW
นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มินบู ยังเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมามีน้อยมากโดยใช้ระบบพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าหากเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 154,586,250 กิโลกรัม ต้องใช้ต้นไม้จำนวน 6,825,000,000 ต้น เพื่อดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มินบู ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์