ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อใช้ควบคุมและป้องกันภัยคุกคามทางระบบข้อมูลสารสนเทศซึ่งส่งผลกระทบกับความมั่นคงของประเทศ โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือการกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) สำหรับกำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมถึงกำหนดนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ซึ่งมีอำนาจออกคำสั่งเพื่อตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายส่งผลกระทบกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งได้แสดงความห่วงใยต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในการใช้งานคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้คนในปัจจุบันนิยมใช้ติดต่อสื่อสารและแสดงความคิดเห็นต่างๆ ขณะเดียวกันมีผู้กังวลว่าในอนาคตรัฐบาลอาจใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเครื่องมือควบคุมและปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง รวมถึงผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลการทุจริตคอรัปชั่นต่างๆของรัฐบาล จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อพระราชบัญญัติความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.34 และเพศชายร้อยละ 49.66 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับการผ่านกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.33 ทราบว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางระบบสารสนเทศ/คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ตที่ส่งผลกระทบกับประเทศ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.67 ไม่ทราบ
ในด้านความคิดเห็นต่อกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60.31 มีความคิดเห็นว่ากฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะช่วยป้องกันภัยคุกคามที่มีต่อระบบสารสนเทศ/คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ตของประเทศ เช่น การโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว การแพร่ไวรัสทำลายระบบคอมพิวเตอร์ การทำลายระบบบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ การเข้าถึงข้อมูลความมั่นคงต่างๆ เป็นต้น ได้จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.75 ระบุว่าจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จเพื่อสร้างความวุ่นวาย/ตื่นตระหนกให้กับประชาชนได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.88 และร้อยละ 55.28 ระบุว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานระบบข้อมูลสารสนเทศ/คอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ตของประชาชนในประเทศให้สูงขึ้นได้ และจะมีส่วนช่วยยกระดับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-service) ของหน่วยงานต่างๆให้มีความปลอดภัยมากขึ้นได้ ตามลำดับ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.81 มีความคิดเห็นว่ากฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะไม่ส่งผลกระทบกับการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของประชาชน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.84 เชื่อว่ามีผู้จงใจบิดเบือนเนื้อหาของกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.92 ไม่เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.24 ไม่แน่ใจ
สำหรับความกังวลต่อกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.59 กังวลว่ารัฐบาลในอนาคตจะนำเอากฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาเป็นเครื่องมือข่มขู่/จับกุม/ปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.12 กังวลว่ารัฐบาลในอนาคตจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.39 กังวลว่ารัฐบาลในอนาคตจะนำมาเป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในการใช้งานคอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ต/เครือข่ายสังคมออนไลน์ของประชาชน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.91 กังวลว่ารัฐบาลในอนาคตจะนำเอากฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นไม่ให้ประชาชนรับรู้/รับทราบ/เข้าถึงข้อมูลข่าวสารการคอรัปชั่น/ทุจริตประพฤติมิชอบในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.38 มีความคิดเห็นว่าภาครัฐจำเป็นจะต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.49 มีความคิดเห็นว่าไม่จำเป็น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.13 ไม่แน่ใจ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit