ก.คลัง ฉบับที่ 25/2562 - กระทรวงการคลังขยายเพดานให้นิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทสามารถประกอบธุรกิจให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แก่ประชาชนในวงเงิน 100,000 บาทต่อราย (พิโกพลัส)

22 Apr 2019
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย

ระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อให้รองรับความต้องการทางการเงินของประชาชน ซึ่งได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบในคราวประชุมเมื่อวันอังคารที่ 19 มีนาคม 2562 นั้น ขณะนี้ สศค. ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2562 เป็นต้นมา ประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. กำหนดให้เก็บ "อัตรากำไรจากการให้สินเชื่อ" เพื่อให้รองรับกลุ่มลูกค้าชาวมุสลิมที่ต้องการใช้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ได้ตามหลักศาสนาอิสลาม

2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ดังนี้

2.1 วงเงินสินเชื่อและทุนจดทะเบียนหรือเงินลงหุ้น

(1) ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้าในวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย

ต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วหรือเงินลงหุ้นไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท

(2) ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้าในวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย (พิโกพลัส) ต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วหรือเงินลงหุ้นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

2.2 อัตราดอกเบี้ย อัตรากำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียม (Effective Rate)

(1) วงเงินสินเชื่อส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาทแรก อาจเรียกเก็บรวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี

(2) วงเงินสินเชื่อส่วนที่เกินกว่า 50,000 บาท อาจเรียกเก็บรวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี

3. กำหนดวิธีการยื่นคำขออนุญาต ดังนี้

3.1 ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์อยู่เดิม

(1) สามารถประกอบธุรกิจให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในวงเงิน 50,000 บาทต่อราย ต่อไปได้

แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกอบธุรกิจที่กำหนดตามประกาศฉบับใหม่

(2) หากต้องการที่จะให้กู้ยืมเงินประเภทพิโกพลัส ต้องยื่นคำขออนุญาตใหม่ผ่าน สศค. พร้อมส่งหลักฐานการเพิ่มทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วหรือเงินลงหุ้นให้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และเอกสารหลักฐานอื่น

ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ในลักษณะเดิมต่อไปจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประเภท พิโกพลัส

3.2 ผู้ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นและพิจารณาคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์

หากต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการประกอบธุรกิจเป็นประเภทพิโกพลัส ให้แจ้งแก่ สศค. โดยเร็ว และแก้ไขเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมส่งมายัง สศค.

3.3 นิติบุคคลอื่นที่สนใจประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ สามารถยื่นคำขออนุญาตและเอกสารหลักฐานมายัง สศค. ผ่านช่องทางใหม่ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สำนักงานคลังจังหวัด และผ่านช่องทางเดิม ได้แก่ สศค. สาขาของธนาคารออมสิน สาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือส่งเอกสารผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียนมายัง สศค.

4. ปรับปรุงแบบรายงานและกำหนดเวลานำส่งงบการเงิน

ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดทำรายงานการให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และนำส่งมายัง สศค. เป็นรายเดือน

ตามแบบรายงานที่ สศค. ได้ปรับปรุงใหม่ และนำส่งงบการเงินประจำปีต่อ สศค. ภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี

ในการนี้ สศค. จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ติดต่อ

ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ประเภทพิโกพลัส เนื่องจากเป็นโอกาสที่จะขยายวงเงินสินเชื่อแก่ลูกค้าให้สูงขึ้นโดยได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจในระดับที่เหมาะสม ทั้งยังสามารถช่วยเหลือผู้มีความเดือดร้อนจำเป็นทางการเงินให้เข้าถึงสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในระบบทดแทนการกู้ยืมเงินนอกระบบได้อีกด้วย โดยผู้สนใจประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.1359.go.th

สำหรับประชาชนที่จะใช้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จะสามารถกู้ยืมเงินได้ในวงเงิน 50,000 บาท จนกว่าจะมี

ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ประเภทพิโกพลัสในจังหวัดของตน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อ

ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการแล้วภายในเขตจังหวัดของตนได้จากเว็บไซต์ข้างต้น