TK park จัดรวมมิตรเสวนา ก้าวข้ามทศวรรษแห่งการอ่าน

18 Apr 2019
มองปัญหา แนวโน้ม และแนวทางการแก้ปัญหาการอ่านของคนไทย
TK park จัดรวมมิตรเสวนา ก้าวข้ามทศวรรษแห่งการอ่าน

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park จัดเสวนาพิเศษ "รวมมิตรเสวนา ก้าวข้ามทศวรรษแห่งการอ่าน ในงานแถลงข่าว "ผลสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ.2561" โดยเชิญ 3 วิทยากรคุณภาพ ธนิษฐา แดนศิลป์ รพล อนุตรโสตถิ์ และ รวิวร มะหะสิทธิ์ มาร่วมพูดคุยถึง 3 หัวข้อ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหา แนวโน้ม และแนวทางการแก้ปัญหาการอ่านของคนไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อเร็วๆนี้

ธนิษฐา แดนศิลป์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ภารตะ เริ่มต้นเสวนาในประเด็น "รู้จักสถาบันหนังสือแห่งชาติอินเดีย แล้วย้อนมองไทย" ว่า หลังจากอินเดียได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1947 ท่านยาวาหะราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรก ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลตระหนักว่า ควรใส่ใจการพัฒนาด้านสังคมและวัฒนธรรมเท่าๆ กับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม เพราะความรู้คือสิ่งสำคัญ และในตอนนั้นคนจำนวนมากไม่มีความรู้ อีกทั้งคนในประเทศยังใช้ภาษาที่แตกตางกันกว่า 20 ภาษา ฉะนั้น หนังสือคือเครื่องมือชนิดหนึ่ง ที่ต้องเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการอ่านในหมู่ประชาชน และต้องทำให้เกิดความสนใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและซาบซึ้งวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมถึงประเพณีอันเก่าแก่โบราณของชาติตน จึงได้ก่อเกิด National Book Trust (NBT) หรือสถาบันหนังสือแห่งชาติขึ้นในปี 1957 มีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อสนับสนุนพัฒนาการอ่าน ผลิตและสนับสนุนให้เกิดการผลิตวรรณกรรมที่ดี และทำให้ประชาชนเข้าถึงวรรณกรรมโดยง่ายในราคาที่เหมาะสม

"อินเดียไม่ได้สนใจว่า เด็กอ่านมากจะมีเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ แต่สนใจว่าอ่านอะไรเพื่อที่จะกำหนดว่าภาพรวมของความรู้ทั้งประเทศจะเดินไปข้างหน้า ต้องไปในทิศทางไหน แล้วก็ผลิตหนังสือออกมาเพื่อให้ถึงทุกคน ในราคาที่ต่ำหรือไม่คิดราคา นี่คือหัวใจของสถาบันหนังสือแห่งชาติอินเดีย ถามว่าประเทศไทยทำตามแบบอินเดียได้ไหม ได้ค่ะ ถ้ามีหน่วยงานที่รับผิดชอบจริงๆ แต่ประเทศไทยยังขาดหน่วยงานวิจัยพัฒนาระบบหนังสือและการเรียนรู้ หน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ จัดหาหนังสือ จัดระบบหนังสือ สร้างฐานข้อมูลหนังสือ สร้างฐานข้อมูลองค์กรที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ สร้างฐานข้อมูลบุคคลวิชาชีพ ส่งเสริมและพัฒนาวิชาที่เกี่ยวข้อง พัฒนาหลักสูตรอบรมค้นคว้าวิจัย หน่วยงานนี้ต้องประสานงานกับองค์กรด้านห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งกับภาคสังคมร่วมกันจัดการส่งเสริมการอ่าน คิดค้นวิธีการใหม่ๆ" คุณธนิษฐากล่าว

ขณะที่ พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ผลิตและพิธีกรรายการชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท มาร่วมพูดคุย ในหัวข้อ "อ่านอย่างไรไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม"ว่า ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมที่ต้องการเสพข้อมูลที่มีความแปลกและมีความท้าทาย ถ้าเกิดในวงการสื่อเราก็จะเจอความต้องการแปลกๆ หลายๆ อย่างที่ทำให้งานข่าวมีความท้าทายมากขึ้น สังคมต้องการจะเสพแต่ดราม่า ต้องการเสพความสด ต้องการเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อ ต้องการรู้ก่อนคนอื่น ต้องการเป็นคนแรกที่บอกคนอื่น เสพความสด มีพฤติกรรมการเปิดรับและการส่งต่อ มันนำมาสู่การสร้างเนื้อหาในลักษณะหนึ่งออกมาป้อน ขณะที่คนจำนวนมากเข้าสู่อินเทอร์เนตเป็นครั้งแรกเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มีกำลังทรัพย์ มีเวลา แต่สิ่งที่ขาดคือ ขาดองค์ความรู้ ขาดความชำนาญ ในการใช้ชีวิตอยู่ในออนไลน์ รู้ไม่เท่าทัน พอรู้ไม่เท่าทันในด้านต่างๆ ก็ทำให้กลายเป็นคนที่เชื่อง่าย พอเชื่อง่ายไม่ตรวจสอบพอมีคนเห็นก็จะจำแบบนี้

"เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารสามารถถูกดัดแปลงจากเรื่องที่ผิดให้เป็นเรื่องที่ถูกได้ง่าย สิ่งที่จะช่วยคนอ่าน ต้องตระหนักเสมอเวลาอ่านเราต้องรู้เสมอว่ามันมีโอกาสผิด มันมีโอกาสถูกใครก็ได้เขียนขึ้นมา วิธีป้องกัน คือเวลาอ่านอะไรบนอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่ให้สงสัยไว้ก่อน ถึงแม้จะมีรูป มีข้อมูลก็ตาม เราต้องป้องกันตัวเองในเรื่องของการอ่าน เปิดใจคือไม่ตัดสินก่อนจะอ่าน เลือกสรรก่อนจะอ่าน ถ้าอ่านต้องอ่านให้จบ ดูคลิปให้จบ ข้อมูลปลอมง่ายกว่าข้อมูลจริง ข้อมูลสร้างง่าย ข้อมูลบิดเบือนง่าย สิ่งที่ต้องระมัดระวังข้อมูลถูกทำลายยาก เราตกเป็นเหยื่อได้ง่ายมาก ถ้าเราอ่านอย่างไม่ระมัดระวัง" คุณพีรพลแนะนำ

ปิดท้ายที่ รวิวร มะหะสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มาพูดคุยในหัวข้อ "อีบุ๊คไทย ตายหรือโต?" ว่า มูลค่าตลาดอีบุ๊คในเมืองไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือ ประมาณ 6-7% แต่พอมาดูอัตราการเติบโตตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเติบโตได้รวดเร็วมาก เรียกว่าคนทำหนังสือต้องหันมามองบ้างแล้ว เนื่องจากอีบุ๊คอาจจะตอบโจทย์ได้มากกว่า มีตัวเลือกให้เยอะกว่า จัดเก็บได้ง่ายสะดวกกว่า ส่วนเนื้อหาอีบุ๊คก็มีแนวโน้มหลากหลายกว่าหนังสือเล่ม เพราะหนังสือเล่มจะเป็นหนังสือที่เนื้อหาถูกคัดสรรมาแล้วและส่วนหนึ่งที่ได้รับการตีพิมพ์ เชื่อว่ายังมีต้นฉบับอีกมากมาย อย่างต้นฉบับที่เคยตีพิมพ์เป็นเล่มแล้ว แต่ตอนนี้หมดลิขสิทธิ์กับสำนักพิมพ์ ลิขสิทธิ์ก็อยู่ที่นักเขียน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่พอมาเป็นอีบุ๊คต้นฉบับเหล่านั้นที่อยู่นอกตลาดสามารถหวนกลับเข้ามาในตลาดได้ในรูปแบบของอีบุ๊ค

'อีบุ๊คเป็นจิกซอร์หนึ่งของประวัติศาสตร์การพิมพ์ของคนทำหนังสือเพื่อให้ต่อไปหาอนาคต ในฐานะที่เป็นนักอ่านผมมองว่าอีบุ๊คเป็นตัวเลือกใหม่ๆ ถ้าในฐานะคนทำหนังสือก็เป็นเครื่องมือใหม่ๆ ที่เราจะทำเนื้อหา แก่นของหนังสือไม่ได้อยู่ที่ความเป็นกระดาษอยู่ที่เล่ม หรือว่าอยู่ที่ตัวอักษร แต่แก่นคือการนำพา แนวคิด การพาคอนเทนต์ การพาเนื้อหาสาระ ไปสู่ผู้รับสารปลายทาง ถ้าอีบุ๊คมันเป็นสื่อหนึ่งที่จะทำสิ่งนั้นได้ เราจะปฏิเสธทำไม' รวิวรกล่าว

HTML::image( HTML::image(