นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบให้จำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอท ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดและคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติเห็นชอบใน 6 มาตรการจำกัดการใช้ตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ โดยกรมวิชาการเกษตรได้เสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน5 ฉบับซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ทั้ง 6 มาตรการในการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจากนุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน
ภายหลังจากประกาศฯ ทั้ง 5 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้วจะมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องปฎิบัติตามมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ใช้และผู้รับจ้างพ่นสารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องผ่านการอบรม และหรือผ่านการทดสอบความรู้ตามหลักสูตรการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยกรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมวิทยากร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 240 คน โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 อบรมวันที่ 24 เมษายน นี้ ส่วนรุ่นที่ 2 อบรมวันที่ 25 เมษายน เพื่อไปอบรมเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำนวน 2,000 คน เพื่อไปอบรมเกษตรกร โดยมีกำหนดจัดอบรมเพื่อสร้างวิทยากรดังกล่าวในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2562
ทั้งนี้ วิทยากรที่ผ่านการอบรมทั้งหมดจะต้องไปอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรจำนวน 1.5 ล้านคน ประกอบด้วยเกษตรกรผู้ปลูกพืช 6 ชนิด ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา อ้อย และไม้ผล โดยเนื้อหาที่อบรมประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้ / อันตรายจากการใช้ ความเป็นพิษต่อร่างกาย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม / การใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยกำหนดจัดอบรมเกษตรกรดังกล่าวในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน 2562 สำหรับผู้รับจ้างพ่น จำนวน 50,000 คน กรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
นอกจากนี้ ยังมีการอบรมให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 79,988 คน โดยจะจัดอบรมเกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด และบทบาทหน้าที่ ความสำคัญของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่แต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบการใช้ 3 สาร ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผ่าน video conference เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ ในช่วงระว่างเดือนมิถุนายน 2562
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้กำหนดพืชที่ให้ใช้พาราควอต และไกลโฟเซต เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล เท่านั้น ส่วนคลอร์ไพริฟอส ให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล รวมทั้งได้กำหนดพื้นที่ห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับหน่วยงานราชการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท ที่ใช้สารกำจัดวัชพืช เพื่อกำจัดวัชพืชข้างทางรถไฟ และข้างถนน กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย แต่ต้องมาขออนุญาตเพื่อใช้สารกำจัดวัชพืช ตามพื้นที่และปริมาณที่กำหนดโดยตรงต่อกรมวิชาการเกษตร
"ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องแสดงหลักฐานว่าได้ผ่านการอบรม ชนิดพืชที่ปลูก พร้อมจำนวนพื้นที่ปลูกเพื่อกำหนดปริมาณสารเคมีที่จะซื้อไปให้มีความเหมาะสมกับความต้องการใช้ เพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานในการซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ส่วนผู้รับจ้างพ่นก็จะต้องผ่านการอบรมเช่นเดียวกัน โดยต้องมีใบอนุญาตรับจ้างพ่น" นายอนันต์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit