สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์วันที่ 22-26 เม.ย. 62 และแนวโน้มสัปดาห์วันที่ 29 เม.ย.-3 พ.ค. 62 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

29 Apr 2019
สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์วันที่ 22-26 เม.ย. 62 และแนวโน้มสัปดาห์วันที่ 29 เม.ย.-3 พ.ค. 62 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท . จำกัด (มหาชน)

ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 83.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 85.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • นาย Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศยุติการผ่อนผันจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน (Waiver) ให้ 8 ชาติ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ตุรกี อิตาลี และกรีซ สิ้นสุดลงภายในวันที่ 1 พ.ค. 62 กล่าวคือ สหรัฐฯ จะไม่ขยายกรอบระยะเวลาผ่อนผัน ให้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านรวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ระยะเวลา 6 เดือนครั้งใหม่
  • อิหร่านขู่ว่าอาจปิดช่องแคบ Hormuz ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญของประเทศผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย หากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้จริง อนึ่ง อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบลดลงจาก 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนถูกคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มาอยู่ต่ำกว่าระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปัจจุบัน
  • บริษัท Shell ในไนจีเรียประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) การส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ท่อขนส่ง Nembe Creek (ปริมาณสูบถ่าย 150,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 21 เม.ย. 62 อย่างไรก็ดีตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 62 สามารถเพลิงดับไฟได้ ทั้งนี้บริษัท Shell อยู่ระหว่างตรวจสอบและซ่อมแซมความเสียหาย
  • Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน ก.พ. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 90,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.136 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบลดลง 277,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 6.977 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • 25 เม.ย. 62 รัสเซียหยุดส่งออกน้ำมันดิบทางท่อ Druzhba (กำลังสูบถ่าย 1 ล้านบาร์เรล) ที่ใช้ขนส่งน้ำมันดิบสู่โปแลนด์ เยอรมนี เชค และรัฐสโลวาเกีย เนื่องจากน้ำมันดิบปนเปื้อน Organic Chloride ที่อาจทำให้โรงกลั่นเสียหาย ทั้งนี้ก่อนปิดระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบ 730,000 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันโลกในปี พ.ศ. 2562 มีเพียงพอ และระดับปริมาณสำรองน้ำมันของกลุ่มประเทศ OECD ในเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ 2.87 พันล้านบาร์เรล ยังสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ทั้งนี้กำลังผลิตน้ำมันส่วนเกิน (Spare Capacity) ยังสูงถึง 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังกลุ่มOPEC และพันธมิตรร่วมมือลดปริมาณการผลิตน้ำมัน
  • รัฐบาลสหรัฐฯ ขอความร่วมมือจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ เช่น ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังสหรัฐฯ ประกาศยุติผ่อนผัน (Waiver) นำเข้าน้ำมันอิหร่าน ให้ตลาดมีอุปทานเพียงพอ ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียแถลงจีนและประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบอื่นๆ ยังไม่แจ้งความจำนงค์ขอซื้อน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียเพิ่มเติม หลังวันที่ 1 พ.ค. 62 จากมาตรการคว่ำบาตร
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 460.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 60 และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 12.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นโดยอุปทานน้ำมันดิบในตลาดลดลงต่อเนื่องจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้นจากสถานการณ์สงครามการเมืองในลิเบีย มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน และเวเนซุเอลา ที่เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันช่วงปลายสัปดาห์ลดลง หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump กดดัน OPEC ให้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพื่อทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน (Gasoline) ในสหรัฐฯ ลดลง ส่งผลให้นักลงทุนเทขายทำกำไร หลังจากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ6 เดือน ทั้งนี้นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดี Trump ได้กดดัน OPEC หลายครั้ง ผ่าน Twitter ซึ่งมักต้องการจะให้ราคาน้ำมันดิบลดลง โดยมีผลกระทบในตลาดเพียงชั่วคราว อย่างไรก็ตามทางการสหรัฐฯ แถลงว่าจะไม่ผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรให้จีนนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่าน โดยหลังวันที่ 1 พ.ค. 62 ถ้าจีนไม่หยุดซื้อน้ำมันอิหร่าน สหรัฐฯ จะปิดกั้นธนาคารจีนจากระบบการเงินของสหรัฐฯ ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน นาย Mohammad Javad Zarif กล่าวว่าอิหร่านมีทางเลือกที่จะยกเลิกสนธิสัญญาต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty) อย่างไรก็ดีอุปทานน้ำมันดิบรัสเซียที่ตึงตัวจากปัญหาการปนเปื้อน Chloride มีแนวโน้มจะคลายตัว หลังรัสเซียเจรจากับเบลารุส ยูเครน และโปแลนด์ ทุกฝ่ายยอมรับแผนกลับมาสูบถ่ายน้ำมันดิบผ่านท่อขนส่ง Druzhba (ปริมาณสูบถ่าย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ภายใน 2 สัปดาห์ ให้ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในวันที่ 30 เม.ย.- 1 พ.ค. 62 ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะมีวาระพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Interest on Excess Reserves: IOER) เพื่อให้ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ย Effective Fed Funds Rate (EFFR) ที่ระดับ 2.44 % ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.0-75.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบNYMEX WTI อยู่ในกรอบ 63.0-67.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.5-74.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของอินเดียและศรีลังกา ประกอบกับ Sinopec มีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย Hydrocracking (กำลังการกลั่น 34,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Tianjin (กำลังการกลั่น 277,000 บาร์เรลต่อวัน) ช่วงวันที่ 10 พ.ค. - 5 มิ.ย. 62 ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 19 เม.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 225.8 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด24 เม.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.44 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.44 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนซบเซา เนื่องจากอุปสงค์ชะลอตัว และกรมศุลกากรของจีน (General Administration of Customs หรือ GAC) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน มี.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 204.5 % อยู่ที่ 14.37 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 83.0-87.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจากสำนักวิจัยด้านพลังงาน Sublime China Information (SCI99) ของจีนรายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นอิสระ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.85% มาอยู่ที่ 59.68% ต่ำสุดตั้งแต่ 3 ส.ค. 61 อีกทั้ง Sinopec มีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย ที่โรงกลั่น Tianjin (กำลังการกลั่น 277,000บาร์เรลต่อวัน) โดยปิด Delayed Coking หน่วยที่ 1 กำลังการผลิต 21,800 บาร์เรลต่อวัน วันที่ 1 - 7 ก.ค. 62 และ หน่วยที่ 2 กำลังการผลิต 42,000 บาร์เรลต่อวันวันที่ 5 - 15 ส.ค. 62 ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 700,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 127 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.20 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.34 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามโรงกลั่นในอินเดียและอียิปต์ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล และ GAC ของจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน มี.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.2 % อยู่ที่ 20.33 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84.5-88.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล