สคร.10 อุบลฯ รณรงค์ป้องกันโรคมาลาเรีย จ.ศรีสะเกษ

29 Apr 2019
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักโรคมาลาเรียสู่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสูงวันนี้ 25 เมษายน 2562 ที่หอประชุมโรงเรียนบ้านโดนเอาว์ ต.รุง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอกันทรลักษ์ องค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานภาคีภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักโรคมาลาเรียสู่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสูง โดยมี นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน ภายในงานมีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคมาลาเรีย กิจกรรมชุบมุ้ง และมอบมุ้งชุบน้ำยาแก่ชาวบ้าน การเจาะเลือดเพื่อค้นหาผู้ป่วยโรคมาลาเรียในพื้นที่ นิทรรศการให้สุขศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องการป้องกันไข้มาลาเรีย และการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในหมู่บ้านและบริเวณรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีประชาชนและอสม. เข้าร่วมกว่า 300 คน
สคร.10 อุบลฯ รณรงค์ป้องกันโรคมาลาเรีย จ.ศรีสะเกษ

นายแพทย์ดนัย เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียในพื้นที่ รับผิดชอบ 5 จังหวัด เขตสุขภาพที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 25 เมษายน 2562 พบผู้ป่วยโรคมาลาเรียทั้งสิ้น 530 ราย จังหวัดศรีสะเกษ พบผู้ป่วย 339 ราย ผู้ป่วยส่วนมากพบใน อ.กันทรลักษ์ อ.ขุนหาญ และ อ.ภูสิงห์ ประชาชนทุกคนจึงจำเป็นจะต้องมีความรู้ ความตระหนักและมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคมาลาเรีย การจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงก้นปล่อง เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง ครอบครัว ชุมชน ให้ปลอดภัยจากโรคมาลาเรีย การรณรงค์ในวันนี้ จึงเป็นการปลุกกระแสให้ทุกคนได้ตื่นตัว ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้น และช่วยกันควบคุม ป้องกัน ลดการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัย ของตัวท่านเอง รวมทั้งบุตรหลานที่ต้องอาศัยในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคมาลาเรีย

ทั้งนี้ วิธีการป้องกันโรคมาลาเรียที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการทายากันยุง นอนในมุ้งชุบน้ำยา มุ้งคลุมเปล จุดยากันยุง สวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว โดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมนอกบ้าน เช่น เวลาไปกรีดยาง เดินทางในป่า เป็นต้น ส่วนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่นสลับร้อน เหงื่อออก สงสัยป่วยโรคมาลาเรียให้รีบไปสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือเข้ารับการตรวจรักษาที่มาลาเรียคลินิกชุมชน ซึ่งจะมีอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมในการตรวจหาเชื้อมาลาเรียด้วยชุดตรวจอย่างเร็ว และให้การรักษาได้ ไม่ควรซื้อยามากินเอง เพราะอาจจะทำให้เชื้อดื้อยา หรือมีอาการรุนแรงขึ้น ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

HTML::image( HTML::image(