ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในวงการกีฬาอาชีพโดยปกติต้องมีการจดสิทธิบัตรในการเผยแพร่เนื้อหาผ่านสื่อต่างประเทศ เพื่อการแพร่ภาพสดแบบความละเอียดสูงสู่สายตาแฟนกีฬาทั่วโลก ซึ่งเมื่อรับชมผ่านช่องทางออกอากาศหรือการถ่ายทอดออนไลน์อย่างเป็นทางการ แฟน ๆ จะได้สัมผัสถึงคุณภาพเนื้อหาที่ดีที่สุดเสมอ พร้อมทั้งได้สนับสนุนทีมโปรดของตนเองผ่านการเพิ่มยอดการรับชม ซึ่งตัวเลขนี้จะถูกใช้เพื่อจูงใจผู้สนับสนุนรายการและคิดค่าธรรมเนียมการจดสิทธิบัตรแพร่ภาพต่อไป
สำหรับรายรับจากการจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กันเพื่อสร้างวงการกีฬาที่มีคุณภาพ อีกทั้งชุดกีฬาปลอมโดยทั่วไปมักมีคุณภาพต่ำ ไม่ทนทาน และมักมีอันตรายต่อสุขภาพของผู้สวมใส่
ภายในบูธนิทรรศการไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย (IP Key Southeast Asia) และลาลีกา (LaLiga) ซึ่งจัดขึ้นในงานวันทรัพย์สินทางปัญญาโลกในประเทศไทย นาย โฮเซ่ มาเรีย กอเทอร์ ผู้แทนจากลาลิกาลีกประจำประเทศไทย กล่าวว่า รายรับจากสิทธิ์การแพร่ภาพทางโทรทัศน์และสินค้าลิขสิทธิ์มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสรรหานักกีฬา การจัดหาอุปกรณ์ฝึกซ้อม การสนับสนุนทีมงาน และบริการอื่น ๆ ที่ช่วยให้ทีมมีความสามารถในการแข่งขัน
"หากแฟน ๆ ลาลิกาลีกรับชมเกมผ่านช่องออนไลน์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เปรียบเสมือนพวกเขากำลังทำร้ายทีมฟุตบอลสเปนที่พวกเขารัก" นาย โฮเซ่ มาเรีย กอเทอร์ กล่าว "ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีช่องทางถูกลิขสิทธิ์สำหรับการรับชมแมตช์ในลาลิกาลีกมากมาย โดยเฉพาะแอปพลิเคชั่นบีนสปอตส์ (BeIN Sports) หรือช่องเคเบิ้ลในประเทศ"
สำหรับ ลาลิกา เป็นพรีเมียร์ดิวิชั่นหรือระบบการแข่งขันฟุตบอลชายระดับสูงสุดของประเทศสเปน ซึ่งรวบรวมทีมฟุตบอลชื่อดังไว้มากมาย อาทิ เรอัล มาดริด (Real Madrid) และ สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา (Barcelona FC) ซึ่งมีแฟนบอลในเอเชียติดตามอยู่เป็นจำนวนมาก
นาย ฟิลิปป์ ดูปุย หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการค้าแห่งคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ซึ่งให้เกียรติเข้าร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวว่า "การปกป้องสิทธิ์และการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาคือเป้าหมายหลักของสหภาพยุโรป เนื่องจากวงการกีฬามีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของภูมิภาคเราอย่างมีนัยสำคัญ และจำเป็นต้องอาศัยการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในการอยู่รอด การถ่ายทอดการแข่งขันที่ละเมิดลิขสิทธิ์และการจำหน่ายสินค้าปลอมทำให้วงการนี้ตกอยู่ในอันตราย ซึ่งแฟน ๆ สามารถช่วยเหลือวงการกีฬาที่ตนเองรักให้ดำเนินต่อไปได้ ด้วยการงดซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์"
ทั้งนี้ วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก 2019 ให้ความสำคัญในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและวงการกีฬา นิทรรศการในประเทศไทยจัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมี ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย (IP Key Southeast Asia) ซึ่งเป็นแผนงานที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และ ลาลิกา (Laliga) ลีกแข่งขันฟุตบอลอาชีพของสเปน ร่วมกันเน้นย้ำถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาในวงการกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาฟุตบอล โดยจัดบูธภายใต้แนวคิด "Support Your Team – Choose Official Products" ในนิทรรศการครั้งนี้
ภายในบูธนิทรรศการ ผู้เข้าชมงานจะได้ชมเสื้อแข่งขันของนักกีฬาจากสโมสรฟุตบอลในลีกของสเปนทั้ง 20 ทีม รวมทั้งอุปกรณ์ การแข่งขัน และของขวัญพรีเมียมที่มีลิขสิทธิ์อื่นๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญคอยสาธิตและอธิบายว่าการแพร่ภาพออกอากาศ และสินค้าลิขสิทธิ์จึงสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพของลีกการแข่งขันได้อย่างไร อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของนิทรรศการวันทรัพย์สินทางปัญญาโลกคือ การเดินทางมาร่วมงานของทีมงานสโมสรฟุตบอลเอสซีจีเมืองทองยูไนเต็ด รวมถึงนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาที่น่าสนใจอีกมากมาย
เกี่ยวกับ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์ เอเชีย (IP KEY SOUTHEAST ASIA)
การจัดนิทรรศการวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก คือโครงการริเริ่มของ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์ เอเชีย (IP Key SEA) เป็นโครงการส่งเสริมการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นแผนงานระยะ 4 ปีมูลค่า 7 ล้านยูโร โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและดำเนินงานโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO) มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการปกป้องสิทธิ์และการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางกฎหมายและเศรษฐกิจที่เหมาะสมซึ่งช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ด้วยการสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพด้านทรัพย์สินทางปัญญา ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์ เอเชีย มุ่งหวังให้เกิดความเท่าเทียมทั้งสำหรับผู้ประกอบการในระดับประเทศและผู้ถือประโยชน์ทุกฝ่ายในสหภาพยุโรป โดย ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์ เอเชีย คือแผนงานหนึ่งในสามที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป มุ่งเน้นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และดำเนินงานโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป ร่วมกับ ไอพี คีย์ ไชน่า และ ไอพี คีย์ ละติน อเมริกา
ปัจจุบันโครงการ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์ เอเชีย (IP Key SEA) ดำเนินงานควบคู่ไปกับโครงการ อะไรส์พลัส ไอพีอาร์ (ARISE+ IPR) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแผนงานที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและและดำเนินงานโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป แม้ทั้งสองแผนงานจะมีขอบเขตการทำงานในเรื่องเดียวกัน แต่มีการมุ่งเน้นความสำคัญและแนวทางการทำงานที่แตกต่างกัน โดย อะไรส์พลัส ไอพีอาร์ เน้นการบูรณาการทางเศรษฐกิจกับอาเซียน ส่วน ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์ เอเชีย เน้นการประสานงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างชาติต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการส่งเสริมข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคีในเรื่องที่ครอบคลุมถึงสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งข้อตกลงที่ได้ข้อสรุปแล้วและข้อตกลงที่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา ตลอดจนการพูดคุยเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในวาระต่าง ๆ โดยทั้งสองแผนงานทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน นั่นคือการยกระดับสภาพแวดล้อมด้านทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาค เพื่อมอบประโยชน์แก่ผู้ถือประโยชน์ทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกับภูมิภาคและทำงานอยู่ภายในภูมิภาคนี้
เกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (EUIPO)
สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป European Union Intellectual Property Office : EUIPO คือหน่วยงานของสหภาพยุโรป มีฐานการดำเนินงานในเมืองอาลีคันเต ประเทศสเปน ทำหน้าที่บริหารการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของสหภาพยุโรป (European Union Trade Mark: EUTM) และหน่วยงาน Registered Community Design (RCD) โดยทั้งสองหน่วยงานให้ความคุ้มครองแก่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ ตลอดจนดำเนินกิจการความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่าง ๆ ในระดับภูมิภาคของสหภาพยุโรป ภายใต้แผนกลยุทธ์ปี 2020 สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปได้ประสานงานกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับสากลในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่างกลุ่มพันธมิตรของสหภาพยุโรป ประเทศนอกสหภาพยุโรป และองค์กรพหุภาคี
ไอพี คีย์ เซาท์-อีสต์ เอเชีย : [email protected]
เว็บไซต์: www.ipkey.eu
ทวิตเตอร์: https://twitter.com/IPKey_EU
ยูทูบ: https://www.youtube.com/channel/UC8J_YCfAoHnqq5B0tiDPv-w
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit