นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการจัดประชุม งานแสดงสินค้า และการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล หรือ อุตสาหกรรมไมซ์ มีความประสงค์ที่จะส่งเสริมและพัฒนาแหล่งศึกษาดูงานใหม่ๆ ในประเทศ และเล็งเห็นว่าชุมชนสหกรณ์มีศักยภาพที่จะทำได้ ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกหลักอันหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างรายได้เพิ่ม ช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะในเมืองรองและชุมชนรายย่อย
โครงการ "ไมซ์เพื่อชุมชน" โดยจะทำการคัดเลือกชุมชนสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นจุดหมายใหม่สำหรับธุรกิจไมซ์ รองรับการจัดงานประชุม ศึกษาดูงาน และจัดกิจกรรมเรียนรู้ พร้อมกับใช้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกผลักดันให้เกิดการจับคู่ธุรกิจสินค้าในชุมชนกับองค์กรธุรกิจต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาชุมชนในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
โดยทีเส็บจะเชิญชวนภาคีพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา เข้ามาร่วมพัฒนาต่อยอดกับชุมชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเรื่องของการจัดประชุม ศึกษาดูงานนอกสถานที่ การอุดหนุนสินค้าพื้นถิ่น การเข้าไปจัดกิจกรรมส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ตลอดจนการเข้าไปแบ่งปันความรู้ร่วมกับชุมชน เช่น ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต
"ไมซ์เพื่อชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศของทีเส็บ ซึ่งจะเสริมให้เราบรรลุเป้าหมายนักเดินทางไมซ์ในประเทศไม่ต่ำกว่า 29 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศ 62,000 ล้านบาท"นายจิรุตถ์ กล่าว
สำหรับ"โครงการไมซ์เพื่อชุมชนในปีนี้ นับเป็นปีที่ 2 ซึ่งทีเส็บมีแนวทางในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน 3 ประสานประชารัฐ เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นตามนโยบายรัฐบาล ทีเส็บเล็งเห็นว่า ชุมชนสหกรณ์ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพทั้งในด้านการเป็นจุดหมายปลายทางใหม่รองรับการจัดงานไมซ์ (การจัดประชุม งานแสดงสินค้า และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล) และการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับปีนี้ ได้ตั้งเป้าขยายสหกรณ์ที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 50 แห่งสำหรับในปีนี้ จากของเดิม 35 แห่ง เหตุผลที่เลือกสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน และสหกรณ์โคนม นครปฐม จำกัด เพื่อสนับสนุนแนวทางการประชุมต่างจังหวัดในระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ตาวมแนวคิด "ประชุม เที่ยว เรื่องเดียวกัน" ซึ่งสหกรณ์ทั้ง 2 แห่งมีความพร้อมในการรองรับตลาดไมซ์ได้เป็นอย่างดี สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสนสามารถจัดกิจกรรมทั้งเชิงความรู้วิชาการ อาทิ งานเพาะพันธ์โคเนื้อพันธ์กำแพงแสนซึ่งถือว่าเป็นโคเนื้อชื่อพันธ์ไทยพันธ์แรกของโลก ซึ่งขั้นตอนการผสมให้ได้สยพันธ์ต้องมีการวางแผนเป็นลำดับขั้นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถสาธิตการผสมเทียมที่เข้าใจได้ง่าย รวมไปถึงกิจกรรมสันทนาการ เช่น แนะนำการย่างเนื้อที่ถูกวิธี การใช้น้ำจิ้มปรุงรสที่เหมาะสมกับสเต็ก ความสนุกสนานของการป้อนนมลูกวัว การโชว์ความสามารถของสัตว์ในฟาร์ม เช่นเดียวกับรีสอร์ททั่วไป ในขณะที่สหกรณ์โคนมนครปฐมรองรับการชมขั้นตอนการผลิตนมแบบเข้าใจได้ง่าย รวมทั้ง สาธิตการทำคอฟฟีเบรคแนวปิงซู โดยใช้วัตถุดิบของสหกรณ์ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ที่หลายท่านอาจยังไม่ทราบในจังหวัดนครปฐม
ภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมสหกรณ์ คือการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ทั่วประเทศกว่า 8,171 แห่ง และกลุ่มเกษตรกรอีก 4,924 แห่ง สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรรวมกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5.5 ของประชากรประเทศไทย โดยเฉพาะสหกรณ์ในภาคการเกษตรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมเกษตรกรที่เป็นสมาชิกผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญหลากหลายชนิด ทั้งสินค้าเพื่อการบริโภค ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้ นม กาแฟ ไข่ไก่ โคเนื้อ และสินค้าทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและอ้อย ซึ่งหากสหกรณ์ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน และส่งต่อการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
"การจัดทำโครงการไมซ์เพื่อชุมชนในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจ มูลนิธิและภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก ที่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับสหกรณ์ในพื้นทึ่ต่าง ๆ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในด้านการผลิตสินค้าและบริการ จะได้เปิดพื้นที่ต้อนรับตัวแทนของภาคเอกชนซึ่งเป็นคณะผู้เข้าร่วมประชุมกับทางทีเส็บได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ด้านธุรกิจระหว่างสหกรณ์กับภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนต่อยอดธุรกิจให้กับสหกรณ์ ทั้งทางช่องการตลาด การพัฒนาดีไซน์รูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ การแบ่งปันความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้สมาชิกสหกรณ์เกิดความเข้าใจและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน อันจะส่งผลทำให้สมาชิกสหกรณ์มีโอกาสในการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และยกระดับความเข้มแข็งของชุมชนให้เกิดความยั่งยืนในที่สุด" นายพิเชษฐ์ กล่าว
เมื่อปีที่ผ่านมา สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จ.เพชรบุรี หนึ่งใน 35 สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ "ไมซ์เพื่อชุมชน" นับเป็นอีกสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมสหกรณ์ต้นแบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โครงการ "ไมซ์เพื่อชุมชน" นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีดี ที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ มีความต้องการที่จะส่งเสริมให้มีแหล่งศึกษาดูงานภายในประเทศแห่งใหม่ ให้เกิดขึ้นอีกหลายๆ แห่ง