นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO เปิดเผยว่าในปี2562 บริษัทคาดว่ารายได้รวมจะเติบโตมากกว่า 50% ซึ่งทุบสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง เนื่องจากจะมีรายได้จากสิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากการผลิตกล่องลูกฟูกของบริษัทดับบลิวพีเอส (WPS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย รวมทั้งจะมีรายได้จากกลุ่มโรงไฟฟ้าทั้งเก่าและใหม่ คาดว่าจะทำให้ และจะสนับสนุนให้กำไรมีทิศทางที่ดีขึ้นสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น
"เป้าหมายการดำเนินธุรกิจจะเร่งพัฒนาศักยภาพของธุรกิจสิ่งพิมพ์ ซึ่งคาดว่า บริษัทดับบลิวพีเอส (WPS) ในฐานะบริษัทย่อย จะเริ่มผลิตกล่องลูกฟูกได้ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2562 เป็นต้นไป "นายยุทธกล่าว
ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้านั้น บริษัทฯ จะจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มเติมอีก 131 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฟูเยี้ยน ที่ประเทศเวียดนาม มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 110 เมกะวัตต์ มีกำหนด COD ภายในเดือนก.ค.นี้ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 21 เมกะวัตต์ คาดจะ ทยอย COD ได้ตั้งแต่เดือนต.ค.2562 ดังนั้นจะทำให้บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยรวมอยู่ที่555 เมกะวัตต์ จากปี 2561 อยู่ที่ 424 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งกำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกหลายโครงการ
อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เวียดนามนั้น EPCO ถือหุ้นในสัดส่วน 65% ร่วมกับ บมจ.คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น (CSS) ถือหุ้น 25% ส่วนที่เหลือ 10% เป็นพันธมิตรท้องถิ่นในเวียดนาม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานวันที่ 1กรกฏาคม-31ธันวาคม 2561 โดยจะจ่ายเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท เป็นจำนวนเงินรวม 92.15 ล้านบาท โดยกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 7พฤษภาคม 2562 และจ่ายเงินปันผลวันที่ 23 พฤษภาคม 2562
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้ อนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทย่อยในต่างประเทศ โดยการจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ขึ้นในฮ่องกง โดยมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 100 เหรียญฮ่องกง ซึ่งจะเป็นบริษัทที่เข้ามาถือหุ้นของบริษัทย่อยในต่างประเทศ เพื่อเป็นการจัดกลุ่มการถือหุ้นของบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจพลังงานทางเลือกในต่างประเทศให้มีความชัดเจน แยกจากบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจพลังงานทางเลือกในไทย ตลอดจนสามารถจัดจ้างผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในฮ่องกงมาบริหารการลงทุนในบริษัทย่อยในต่างประเทศเหล่านี้ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพ ความสะดวก และความคล่องตัวมากกว่า เพื่อรองรับแผนธุรกิจและการขยายการลงทุนต่างประเทศในอนาคต
ขณะที่การจัดตั้งบริษัทย่อยในฮ่องกงนี้จะให้ บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 75% นั้น เป็นผู้ถือหุ้น 100% ในบริษัทย่อยในฮ่องกงดังกล่าว และภายหลังจากจัดตั้งบริษัทย่อยในฮ่องกงเสร็จแล้ว EPCOจะให้บริษัทย่อยที่เกี่ยวข้องดำเนินการโอนหุ้น หรือโอนสิทธิและหน้าตามสัญญาการลงทุนแบบ TK Agreement (แล้วแต่กรณี) ในบริษัทย่อยในต่างประเทศแก่ บริษัทย่อยในฮ่องกง ได้แก่ Alternative Energies (KK) ,Kyotamba Solar (GK) และ Phu Khanh Solar (PKS)
ทั้งนี้ การโอนหุ้น หรือโอนสิทธิและหน้าตามสัญญาการลงทุนแบบ TK Agreement (แล้วแต่กรณี) ในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจพลังงานทางเลือกในต่างประเทศให้แก่บริษัทย่อยในฮ่องกงดังกล่าว จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากเจ้าหนี้สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit