งานเสวนา "มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ"

30 Apr 2019
กรมสรรพากร สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดการเสวนาเรื่อง "มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ภายใต้การบูรณาการร่วมกัน 5 หน่วยงาน" เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้อง กับสภาพที่แท้จริงของกิจการ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้ถูกต้อง เพิ่มโอกาสในการทำธุรกรรมการเงิน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ณ ห้อง Sapphire 204 - 206 เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี
งานเสวนา "มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ"

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า"จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs จัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ มีความถูกต้องตามมาตรฐานการเงินและมาตรฐานภาษีอากรอย่างจริงจัง โดยทั้ง 5 หน่วยงานได้บูรณาการร่วมกันในการอกมาตรการนี้พร้อมทั้งเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว การจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง ความช่วยเหลือของภาคเอกชน ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชี และงบการเงินที่ถูกต้องทั่วประเทศในหัวเมืองใหญ่ 9 จังหวัด และที่อิมแพคเมืองทองธานีในครั้งนี้ การทำบัญชี และงบการเงินที่ถูกต้องเปรียบเสมือนปรอทวัดไข้ของธุรกิจ เมื่อใดที่ธุรกิจเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง กำไรธุรกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย บัญชีและงบการเงินจะเป็นตัวบ่งชี้ Pain Point และ Gain Point ของกิจการ ทำให้ธุรกิจรู้ว่าต้องปรับปรุงหรือแก้ไขที่จุดใด มาตราการนี้จะช่วยลด Pain Point และสร้าง Gain Point ให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ สิ่งที่เคยผิดพลาดในอดีตเกิดภาระทางภาษีต่าง ๆ ทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับอาญามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาภาระเหล่านั้นให้แก่ผู้ประกอบการช่วยให้ทำธุรกิจ ได้อย่างสบายใจ มีบัญชีและงบการเงินที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการมีความน่าเชื่อถือ มีข้อมูล เพื่อวางแผนธุรกิจ สามารถต่อยอดธุรกิจได้กว้างขึ้นในอนาคต เพราะการทำบัญชีและงบการเงินที่ดี จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการขยายกิจการของธุรกิจ"

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ภายใต้พ.ร.บ. ยกเว้น เบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เป็นมาตรการที่ดีและมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือ และส่งเสริมผู้ประกอบการได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบบัญชีที่ถูกต้อง คือระบบบัญชีเดียว เพื่อมุ่งเน้นให้ข้อมูลของธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้อง อันจะส่งผลให้รัฐนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนพัฒนาประเทศได้อย่างตรงเป้าหมาย

ในบทบาทของสภาวิชาชีพบัญชี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร ได้มีการออกตัวอย่างเพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความเข้าใจในการปรับปรุงบัญชีเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดโดยอ้างอิงมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 8 เรื่อง นโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีและข้อผิดพลาด และบทที่ 5 ของมาตรฐาน NPAEs ส่วนรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต สภาวิชาชีพบัญชีได้มีตัวอย่างรายงานผู้สอบบัญชี กรณีสามารถและไม่สามารถตรวจสอบรายการปรับปรุงจากการแก้ไขข้อผิดพลาดได้เช่นกัน โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี www.tfac.or.th"

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า "กกร. อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จึงได้ร่วมมือกับกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสัมมนาเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs จัดทำบัญชีให้ถูกต้องและปรับปรุงงบให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เพื่อจะได้ชำระภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากสถาบันการเงินอย่างเต็มที่ ตามที่ภาครัฐได้ออกมาตรการยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้กับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง ดังนั้น กกร. จะเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนข้อมูลข่าวสารให้ผู้ประกอบการ SMEs มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับมานั้น ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและหน้าที่จะต้องชำระภาษี ตามกฎหมายกว่า 700,000 ราย มีผู้ยื่นงบการเงินเพียง 400,000 ราย โดยมีทั้งบัญชีที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง สำหรับการออกมาตรการในครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว ได้มากกว่า 200,000 ราย (ทั้งรายเก่าและรายใหม่)

สำหรับ สมาคมธนาคารไทยในฐานะส่วนหนึ่งของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นความสำคัญในการจัดให้ข้อมูลและความรู้แก่ผู้ประกอบการใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีสำหรับลูกค้านิติบุคคล และประเด็นที่จะส่งผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคตที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้บัญชีที่ยื่นต่อกรมสรรพากรเป็นหลักฐาน ในการยื่นขอกู้แบงก์ซึ่งถือเป็นกติกาที่บังคับให้ผู้ประกอบการต้องทำบัญชีเล่มเดียว เพราะเงินทุนหมุนเวียนคือหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก หากไม่สามารถนำบัญชีที่ยื่นต่อกรมสรรพากรไปกู้แบงก์ได้ ก็เท่ากับว่า ขาดโอกาสในการทำธุรกิจ โดยถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรีบตระหนักและทำการปรับปรุงบัญชีพร้อมยื่นและชำระภาษีทุกประเภทให้ครบภายใน 30 มิถุนายน 2562 เพราะเหลือระยะเวลาอีกไม่นานเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาแล้วมีความจำเป็นต้องการสินเชื่อเพื่อชำระภาษีอากร ก็ให้รีบติดต่อธนาคารเพื่อขอสินเชื่อสนับสนุน

ซึ่งมาตรการสนับสนุนของธนาคารพาณิชย์ไทยจะให้ความสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบเพื่อจะสนับสนุนให้ลูกค้าที่มีความพร้อมในการปรับงบการเงินเพื่อให้สะท้อนสถานะกิจการที่แท้จริงรวมถึงมาตรการที่ธนาคารด้านการเงินที่ออกมาช่วยการสนับสนุนการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการถือปฏิบัติตามมาตรการบัญชีเล่มเดียว"

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า "ที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการและกำกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีให้จัดทำบัญชีได้อย่างถูกต้อง รวมทั้ง ได้เชื่อมโยงข้อมูลงบการเงินที่ผู้ประกอบการได้นำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปยังกรมสรรพากร ดังนั้น ในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงไม่ต้องแนบงบการเงินซ้ำอีก สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนตาม พ.ร.บ. ยกเว้นเบี้ยปรับฯ เมื่อปรับปรุงบัญชีพร้อมชำระภาษีต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 แล้ว หากประสงค์จะส่งงบการเงินฉบับใหม่เพื่อทดแทนฉบับเดิมที่มีข้อผิดพลาด กรมได้เปิดช่องทาง Fast Track เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562"

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs จัดทำบัญชีและงบการเงินที่สะท้อนสถานะทางการเงินอย่างโปร่งใส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ใช้งบการเงินที่ลูกค้าแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้ซึ่งสะท้อนถึงฐานะและผลประกอบการในอดีต เป็นปัจจัยสำคัญประกอบการพิจารณาสินเชื่อ โดยอาจนำปัจจัยเชิงปริมาณหรือปัจจัยเชิงคุณภาพอื่น ๆ เช่น แผนธุรกิจ คำขอเสนอซื้อสินค้า มาใช้ในการประเมินศักยภาพของธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้คืนของผู้กู้ได้ ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เพื่อให้มาตรการดังกล่าวของภาครัฐสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ ตลอดจนเพื่อสร้างความโปร่งใสและยกระดับ ธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ อันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและความยั่งยืนในระยะยาว ธปท. จึงได้สนับสนุนให้สถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีมาตรการจูงใจสำหรับลูกค้าที่มีงบการเงินที่โปร่งใส เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม รวมทั้งสนับสนุนให้มีมาตรการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการทำบัญชีแก่ผู้ประกอบการด้วย"