ได้เวลา “รักษ์น้ำ” โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

07 May 2019
"เวลาที่เราพูดถึงเรื่องน้ำ คนที่อาศัยอยู่ในเมืองมักจะลืมว่าแหล่งน้ำของตัวเองที่มีอยู่เพียงแหล่งเดียวคือ "น้ำประปา"เปิดก๊อกมาก็เจอน้ำ เราอาจจะคิดว่าประเทศเรามีน้ำมากมายใช้นิดเดียวน้ำคงไม่หมด แต่เราอาจจะลืมไปว่าจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ฤดูกาลต่างๆ คลาดเคลื่อน ฝนฟ้าก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล แล้วเราจะมีน้ำที่ไหนสำหรับกักเก็บเพื่อใช้เพื่อดื่ม จะรอน้ำฝนเหมือนเมื่อก่อนก็ไม่ได้ ถ้าเราไม่มีการอนุรักษ์อย่างเข้มข้น เราก็มีโอกาสที่จะขาดแคลนน้ำแน่ๆ"
ได้เวลา “รักษ์น้ำ” โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

เมื่อน้ำเริ่มมีจำกัด และอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการน้ำในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะกับสังคมเมืองที่มีการขยายตัว ย่อมส่งผลให้ความต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้น เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงทุกสรรพสิ่ง นอกจากเป็นที่ต้องการของภาคเกษตรมากที่สุดแล้ว น้ำยังเป็นที่ต้องการของทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคครัวเรือน ทำให้สถานการณ์น้ำของประเทศไทยเกิดความผันผวนและมีแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในอนาคต

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากรประมาณ 66 ล้านคน เฉพาะในกรุงเทพมหานครมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 8 ล้านคน เมืองจึงเริ่มขยายไปยังพื้นที่รอบนอกเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงเป็นข้อกังวลว่าถ้าน้ำมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มากขึ้นจากปริมาณคนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งยังไม่รวมประชากรแฝง การบริหารจัดการที่มีอยู่เพียงพอแล้วหรือยัง จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยเรื่องแนวโน้มประชากรและความต้องการน้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

" แล้วน้ำที่ใช้มาจากไหน? คนกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้ไม่มีรองน้ำฝนใส่ตุ่มกันแล้ว น้ำประปาคือแหล่งน้ำหลักและทุกอย่างใช้น้ำประปาไม่ว่าจะรดน้ำ ทำสวน ทำเกษตร หรือใช้น้ำดับเพลิง ยังไม่รวมถึงการใช้น้ำในพื้นที่พักอาศัยที่นับวันจะยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น และต่อไปจะมีคนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อทำงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มมากขึ้น ขณะที่น้ำมีเท่าเดิมซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น แล้วจะนำน้ำจากไหนมาเพื่อผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ด้วยพื้นที่เมืองที่มีจำกัดและราคาที่ดินที่ค่อนข้างสูง ทำให้รูปแบบของที่พักอาศัยเปลี่ยนไปจากบ้านสองชั้นหรือบ้านเป็นหลัง กลายเป็นคอนโดมิเนียหรืออาคารสูงบางแห่งสูง 10 ชั้น บางแห่งสูง 40-50 ชั้นโดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าที่ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้การใช้น้ำประปาเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนห้องหรือยูนิต แต่พบว่าแนวทางในการคำนวณค่าน้ำประปาที่ผ่านส่วนหนึ่งเป็นการคำนวณด้วยอัตราคงที่โดยใช้ข้อมูลจากทะเบียนราษฏร์เป็นฐานข้อมูลหลักในการดำเนินการ"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรนงค์ สกุลศรี จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนักวิจัย กล่าวว่า โครงการวิจัยเรื่องแนวโน้มประชากรและความต้องการน้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาร์ก เฟิลแคร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ สาเหตุที่เลือกทำงานวิจัยนี้เพราะอยากรู้ว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำครัวเรือนและที่พักอาศัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นมีเท่าไหร่ แนวทางในการคำนวณความต้องการน้ำและวิธีคิดค่าน้ำประปาเป็นอย่างไร เพื่อประเมินความต้องการใช้น้ำที่น่าจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต โดยเริ่มจากการศึกษาสูตรการประเมินความต้องการน้ำของประเทศต่างๆจากทั่วโลกที่ใช้อยู่ว่ามีการดำเนินการอย่างไรและนำปัจจัยอะไรมาเป็นตัวกำหนดความต้องการน้ำ และมีความแตกต่างจากของประเทศไทยอย่างไร

"หลังจากได้ศึกษาแล้วก็มาดูว่าปัจจัยใดที่มีความเหมาะสมและมีชุดข้อมูลที่มีการเก็บระยะเวลายาวนานเพียงพอเหมาะสมสำหรับใช้ในการคำนวณ จากนั้นจึงนำปัจจัยดังกล่าวที่มีความสอดคล้องกับประเทศไทยมาเทียบค่าและปรับจนได้เป็น"สูตรคำนวณปริมาณความต้องการน้ำประปา" โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนประชากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับตัวแปรอื่นๆ ที่สำคัญและเป็นปัจจัยกำหนดความต้องการน้ำในอนาคต ประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ จำนวนประชากร ขนาดครัวเรือน รายได้ครัวเรือนราคาค่าน้ำ และปริมาณน้ำฝน ในการศึกษาครั้งนี้ได้นำชุดข้อมูลจำนวนประชากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาร่วมในการวิเคราะห์ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการวิเคราะห์ตามแนวทางเดิมที่ใช้ข้อมูลประชากรจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ร่วมกับปริมาณการใช้น้ำในอดีต

โดยเบื้องต้นได้นำสูตรคำนวณค่าน้ำประปาที่เราพยายามปรับใหม่นี้ ทดสอบกับปริมาณน้ำจำหน่ายน้ำที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2561 หรือปี 2018 ที่ผ่านมา ของผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลของการประปานครหลวง (กปน.) พบว่า ผลการคำนวณที่ได้จากค่าคาดประมาณมีค่าต่างกันไม่มากเมื่อเทียบกับการปริมาณน้ำจำหน่ายทั้งหมดเมื่อปี 2018 อยู่ที่ 670 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่สูตรใหม่คำนวณได้ 674 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคณะผู้วิจัยได้ร่วมหารือกับการประปานครหลวงเพื่อพัฒนาเป็นสูตรที่ใช้ในการคำนวณในโอกาสต่อไป"

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ใช้สูตรคำนวณใหม่นี้มาวิเคราะห์เพื่อทำนายความต้องการน้ำในช่วงปี 2018-2038 หรือในอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีปริมาณความต้องการใช้น้ำในจำนวนเท่าไหร่ โดยในการศึกษาวิจัย ได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และทำการสร้างภาพจำลองจากสถานการณ์ความต้องการใช้น้ำจากการจำลองเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางประชากรในอนาคตขึ้นใน 3 ระดับ คือ ระดับสูง (High-bound scenario), ปานกลาง (Moderate-bound scenario) และต่ำ (Low-bound scenario)

ผลการวิเคราะห์ด้วยการสร้างภาพจำลองสถานการณ์ พบว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำในครัวเรือน มีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางประชากร เช่น ขนาดของประชากรและขนาดครัวเรือน โดยทั้งสองปัจจัยจะพยากรณ์ความต้องการน้ำในครัวเรือนที่สำคัญอันเป็นผลสืบเนื่องจากแนวโน้มทางสังคม เศรษฐกิจ และประชากร

ผลการสร้างภาพจำลองการคาดการณ์ระดับปานกลางพยากรณ์ว่า ความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 674 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2018 เป็น 692 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2020 และหลังจากนั้นความต้องการน้ำจะยังเพิ่มขึ้นอยู่ แม้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยคาดว่าความต้องการน้ำในครัวเรือจะอยู่ที่ 723 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2025 และ 742 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2030 และเพิ่มสูงขึ้นถึง 754 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2038 หรือเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ11.9 ในปี 2038 เมื่อเทียบกับปี 2018 ส่วนภาพจำลองการคาดการณ์ระดับสูงมีการคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ14.9 ในขณะที่ภาพจำลองการคาดการณ์ระดับต่ำพยากรณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นช้ากว่าประมาณร้อยละ 8.6 ในช่วงเวลาเดียวกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรนงค์ กล่าวว่า "ผลงานวิจัยนี้ อย่างน้อยเป็นหนึ่งในความพยายามที่ทำให้เราได้รู้ถึงปริมาณน้ำที่ต้องการในอีก20 ปีข้างหน้าว่าเท่าไหร่หรือใกล้เคียงกับความต้องการใช้จริงได้มากที่สุด เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในอนาคตต่อไปเพื่อให้เราทุกคนมีน้ำใช้ได้อย่างยืนยาว เพราะปัจจุบันเวลาที่เราใช้น้ำจะไม่ค่อยคิดว่าตอนนี้น้ำในประเทศมีเพียงพอแค่ไหน และไม่รู้ว่าต้นทุนน้ำที่เกิดจากการผลิตน้ำประปาแต่ละครั้งนั้นมีราคาหรือมีมูลค่าสูงกว่าค่าน้ำที่เราใช้ในปัจจุบันอย่างไร ที่ผ่านมาเราคุ้นชินว่าบ้านเรามีน้ำมากและคุ้นเคยกับการใช้น้ำที่มีราคาถูกมาตลอด จะเห็นว่าค่าน้ำประปาไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานานหลายสิบปี จนอาจมองว่าน้ำไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ในต่างประเทศจะเห็นว่าค่าน้ำหรือน้ำดื่มมีราคาแพงกว่าบ้านเรามาก ทำให้เขาใช้น้ำอย่างเห็นคุณค่า จึงหวังว่าสิ่งที่ได้จากการวิจัยนี้อาจบอกได้ว่าต่อไปแนวทางการอนุรักษ์ควรดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมถึงอาจจะต้องพิจารณาถึงกลไกด้านราคาที่เหมาะสมกับการใช้จริง เพื่อช่วยให้คนไทยหันมาตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องน้ำมากยิ่งขึ้น

เมื่อความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นแต่น้ำมีจำกัดแล้วเราจะหาน้ำจากที่ไหน เราคงไม่อยากเห็นประเทศไทยตกอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำดื่มหรือน้ำสะอาดเหมือนที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเมื่อเราไม่สามารถสร้างเขื่อนเพื่อเก็บน้ำเพิ่มได้อีก และอนาคตอาจต้องมีการผันน้ำข้ามประเทศ หรือรอคอยการปล่อยน้ำจากเขื่อนในประเทศทางตอนเหนือของเรา ดังนั้น หากเรายังไม่ช่วยกันอนุรักษ์น้ำกันอย่างจริงจัง ในอนาคตอาจไม่มีน้ำเหลือให้ลูกหลานได้ใช้อีกต่อไป" อย่างก็ตาม สำหรับข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัยนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยใช้ข้อมูลจากภาพจำลองสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางประชากรในอนาคต