โครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับอาชีวศึกษาเห็นความสำคัญของสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และ 3 อุตสาหกรรมหลักสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (3 โครงสร้างพื้นฐาน) ซึ่งประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมระบบราง 2) อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี และ 3) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์
โครงการฯ ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2562 – ปีการศึกษา 2566) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ในระดับปริญญาตรี โดยผู้กู้ยืมเงินที่เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นนิสิตและนักศึกษาในระดับปริญญาตรีที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนด กยศ. จะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.5 และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 30 อย่างไรก็ดี กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถสำเร็จการศึกษาหรือไม่ได้สำเร็จการศึกษาตามสาขาที่กำหนดไว้หรือผิดนัดชำระหนี้ จะไม่ได้รับส่วนลดเงินต้น โดยจะต้องชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ กยศ. กำหนด
2. โครงการส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ในระดับอาชีวศึกษา โดยผู้กู้ยืมเงินที่เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นนักเรียนอาชีวศึกษาที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนด กยศ. จะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.5 และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 50 อย่างไรก็ดี กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถสำเร็จการศึกษาหรือไม่ได้สำเร็จการศึกษาตามสาขาที่กำหนดไว้หรือผิดนัดชำระหนี้ จะไม่ได้รับส่วนลดเงินต้น โดยจะต้องชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ กยศ. กำหนด
ทั้งนี้ กยศ. จะพิจารณากำหนดสถานศึกษาและสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน โดยสามารถกำหนดหรือปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม
กระทรวงการคลังคาดว่า การดำเนินโครงการฯ จะช่วยลดปัญหากำลังแรงงานส่วนเกินซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดทักษะที่ตรงกับสายงานที่ตลาดต้องการ และจะช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรมนุษย์ ทำให้ประเทศมีกำลังแรงงานในอนาคตที่มีศักยภาพ รวมทั้งสร้างกำลังคนในสายอาชีวะ/สายวิชาชีพที่ยังขาดแคลน เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยต่อไปในอนาคต