ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกยุคดิสรัพเทคโนโลยี ดิจิทัลและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยและตลาดโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สร้างรายได้แก่ประเทศ มูลค่าปีละกว่า 1 แสนล้านบาท นับเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ และเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมปัจจุบันและอนาคต (S-Curve และ New S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมการบินและซ่อมอากาศยาน, อุตสาหกรรมระบบราง,เครื่องจักรกลการเกษตร, ประติมากรรม, จิวเวลรี่, หุ่นยนต์, อุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น นับเป็นโอกาสดีที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับ บริษัท บี.โอ.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เพื่อร่วมกันผนึกกำลังส่งเสริมศักยภาพงานวิจัยและการเรียนการสอนแก่นักศึกษาได้มีทักษะการปฏิบัติที่ก้าวทันเทคโนโลยีโดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ
คุณสมภพ เพชรคล้าย วิศวกรวิจัยพัฒนา ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า MTEC สนับสนุนการส่งเสริมวิจัยพัฒนาและใช้เทคโนโลยีพัฒนาหล่อโลหะ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่โรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart factory เบื้องต้นจะเริ่มพัฒนาการหล่อวัสดุอะลูมิเนียม ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูง เริ่มจากการพัฒนาแอพพลิเคชั่นซอฟแวร์ เพื่อการจัดเก็บข้อมูลพารามิเตอร์งานหล่ออย่างเป็นระบบ นำชุดข้อมูลไปใช้ประเมินและควบคุมคุณภาพงานหล่อให้เป็นไปตามต้องการ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นระบบ โดยระบบคลาวด์อินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน, แท็บเลต ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการ, วิศวกร, พนักงานปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องต่างๆ สามารถที่จะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงงานได้อย่างทันท่วงทีแบบเรียลไทม์ ช่วยลดของเสีย, ประหยัดพลังงาน , ลดต้นทุนการผลิต ส่วนปัจจัยที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมหล่อโลหะไทยก้าวเป็นฮับอาเซียนได้ คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยทางด้านทักษะฝีมือแรงงานมีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากประเทศไทยมีประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนทางวิศวกรรมมายาวนาน สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆในภูมิภาคได้ รวมถึงมีการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาทางด้านงานหล่อโลหะอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการให้ทุนวิจัย ส่งผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศและต่างประเทศมาช่วยแก้ไขปัญหาและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนมีเครือข่ายภาคการศึกษาที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ ผลิตบุคลากรให้ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและตลาดโลก
คุณวิเชียร บุญสืบวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี.โอ.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กล่าวว่า ในด้านคุณภาพและความเชี่ยวชาญอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ประเทศไทยนับเป็นลำดับต้นๆ ของเอเชีย ในอุตสาหกรรมงานหล่อการควบคุมคุณภาพต้อง 100% เนื่องจากชิ้นส่วนเหล่านี้ เป็นชิ้นส่วนของยานยนต์ , ท่าอากาศยาน , ระบบราง เกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัย ที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง หากเกิดข้อผิดพลาดอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ในยุคที่เรากำลังเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เป้าหมายของอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ที่ประเทศไทยควรจะมุ่งไป คือ การผสมผสานเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 เข้ากับทักษะความเชี่ยวชาญ นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีมาพัฒนา ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดต้นทุนแบบยั่งยืน โดยปกติแล้วการหล่อโลหะ จะใช้วิธีหลอมโลหะให้เหลวและเทลงในแม่พิมพ์ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับการหล่อโลหะให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เช่น 3D Simulations จำลองภาพ 3 มิติ เพิ่มศักยภาพการออกแบบดีไซน์ได้ตามต้องการ ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดเวลา สามารถผลิตงานออกมาได้ดีมีคุณภาพและแม่นยำ ลดปริมาณชิ้นงานเสียได้ดีอีกด้วย (Internal Defect) คู่แข่งที่น่าจับตามอง คือ เวียดนามและอินโดนีเซีย ปัจจุบัน บริษัท บี.โอ.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีหุ่นยนต์ในไลน์การผลิต 4 ตัวและมีแผนจะเพิ่มหุ่นยนต์อีก 4 ตัว ในปีหน้า
อาจารย์เชาว์ เนียมสอน สาขาวิศวกรรมหล่อโลหะและโลหะการ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมงานหล่อโลหะ ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดย่อม (SMEs) ดังนั้น หากจะพัฒนาอุตสาหกรรมหล่อโลหะให้ก้าวไกลและมีศักยภาพเพียงพอสู่การแข่งขันในระดับสากล จะต้องสร้างความเข้มแข็ง โดยการร่วมมือกันระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ รวมถึงยกระดับเทคโนโลยีการหล่อโลหะให้ได้มาตรฐานสากล
คุณจุฑา เหลี่ยมมุกดา บริษัท สลาแมนเดอร์ จิวเวอรี่ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจจิวเวลรี่ กล่าวว่า ในปัจจุบันระเบียบการค้าและกฎหมายระหว่างประเทศเปลี่ยนไปมาก และให้ความสำคัญต่อการทำธุรกิจกับองค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เรามุ่งเน้นมาตรฐานเรื่องคุณภาพ และ Green Industry เป็นสำคัญ รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รีไซเคิลนำเศษวัสดุที่เหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนร่วมสร้างความยั่งยืนของชุมชน ผลิตภัณฑ์จิวเวลรี่มีลักษณะของแฟชั่นเครื่องประดับตกแต่ง แบบดีไซน์จะเปลี่ยนไปตามเทรนด์ และยังต้องคำนึงถึงด้านความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ด้วย
ดร. เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิศวกรรมการหล่อเป็นอาชีพที่ท้าทายและมีแนวโน้มเติบโตสูง ปัจจุบันงานวิจัยสำหรับมหาวิทยาลัยมุ่งตอบรับโลกยุคดิสรัพ การพัฒนาองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมจึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนรุ่นใหม่ โดยวิศวกรรมอุตสาหการ ม. มหิดล ได้มุ่งเน้นให้นักศึกษา สามารถเรียนรู้ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำไปยังปลายน้ำ ขั้นตอนการศึกษาค้นคว้า ขั้นตอนการวิจัย และสามารถทดลองปฏิบัติงานจริง เหล่านี้เป็นการกระตุ้นให้นักศึกษานำเอาเทคโนโลยีที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมได้ ในอนาคต ด้านปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากสังคมสูงวัยและหุ่นยนต์ AI จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น คุณสมบัติของวิศวกรด้านหล่อโลหะที่ดี ควรมีทักษะศตวรรษที่ 21 คิดเป็น ทำเป็น ควบคู่กับ Soft Skills ความรอบรู้และการแก้ปัญหาได้ มีความอดทนมุ่งมั่น และที่สำคัญมีความเป็นผู้ประกอบการในตัวเอง
คำอธิบายภาพ
1 –2. เวทีเสวนา "พลวัตใหม่อุตสาหกรรมหล่อโลหะไทย...สู่ฮับอาเซียน" โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
3.-4 ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีวิศวะมหิดล ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท บี.โอ.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
5.ดร. เอกชัย วารินศิริรักษ์ ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีวิศวะมหิดล และสมภพ เพชรคล้าย แห่ง MTEC
6.ดร. เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวะมหิดล กับ คุณสมภพ เพชรคล้าย วิศวกรวิจัยพัฒนา ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
7.ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีวิศวะมหิดล
8.คุณวิเชียร บุญสืบวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี.โอ.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
9.อาจารย์เชาว์ เนียมสอน สาขาวิศวกรรมหล่อโลหะและโลหะการ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
10.คุณจุฑา เหลี่ยมมุกดา บริษัท สลาแมนเดอร์ จิวเวอรี่ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจจิวเวลรี่
11.หลายมุมมองจาก ดร. เอกชัย วารินศิริรักษ์ กับคุณจุฑา เหลี่ยมมุกดา บริษัท สลาแมนเดอร์ จิวเวอรี่ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจจิวเวลรี่
12. ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ วิศวกรและคนรุ่นใหม่ ร่วมงานคึกคักและแสดงข้อคิดเห็น