TFEX ไม่หยุดพัฒนา “สินค้า-บริการ-สภาพคล่อง” เร่งเสริมเครื่องมือซื้อขาย “Algo Trading” เพิ่มโอกาสทำกำไรให้ผู้ลงทุน

02 May 2019
กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX มีพัฒนาการและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการซื้อขายตั้งแต่ปี 2549 มาจนถึงปี 2561 เติบโตเฉลี่ยปีละ 57.06% หากเทียบกับตลาดอนุพันธ์ทั่วโลก TFEX อยู่อันดับที่ 26 สำหรับปีนี้ TFEX ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 14 ยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ตลอดจนส่งเสริมสภาพคล่องในการซื้อขาย เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและเข้าถึงผู้ลงทุนได้หลากหลายกลุ่ม รวมถึงใช้บริหารพอร์ตและบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นเสริมภูมิความรู้ด้านกลยุทธ์และเครื่องมือการซื้อขาย "Algo Trading" หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเพิ่มโอกาสการทำกำไรให้กับผู้ลงทุนใน TFEX
TFEX ไม่หยุดพัฒนา “สินค้า-บริการ-สภาพคล่อง” เร่งเสริมเครื่องมือซื้อขาย “Algo Trading” เพิ่มโอกาสทำกำไรให้ผู้ลงทุน

สัมมนาพิเศษเนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 14 ของ TFEX หัวข้อ "พัฒนาการของ TFEX โอกาสและความท้าทาย" จัดขึ้นเพื่อเสริมความรู้และเปิดมุมมองให้แก่ผู้ลงทุนได้เห็นถึงโอกาสและเตรียมความพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะขึ้น โดยคุณชาญชัย กงทองลักษณ์ ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และกรรมการอำนวยการ บล. ทรีนีตี้ กล่าวว่ามาถึงวันนี้ TFEX มีพัฒนาการที่มั่นคง มีรูปแบบที่ชัดเจน และในย่างก้าวต่อไปจะเติบโตมากขึ้น โดยช่วงแรกให้ความสำคัญกับการวางกฎเกณฑ์และสร้างมาตรฐานการทำงานของอุตสาหกรรม ช่วงที่สองให้ความสำคัญกับการเพิ่มปริมาณสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ SET50 Index Futures และ Options และ Stock Futures รวมถึงกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และปัจจุบันคือ การพัฒนาสภาพคล่องและความลึกของตลาด เพราะมีสินค้าบางตัวประสบความสำเร็จไปแล้ว เช่น SET50 Index Futures ขณะที่สินค้าหลายตัวยังมีสภาพคล่องไม่มากพอ เช่น SET50 Index Options และ Stock Futures รวมไปถึงยางพารา จึงได้ชักชวนสมาชิกเข้ามาเป็น Market Maker เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในการซื้อขาย

"ปีนี้ผมคิดว่า TFEX อยู่ในช่วงของการเพิ่มความลึกหรือสภาพคล่องในตลาด สิ่งที่เราคาดหมาย เช่น วันใดที่ตลาดหุ้น Crash หรือหุ้นตัวไหนที่ Active วันนั้น ตลาด Futures ก็น่าจะ Active ไปด้วย นี่ก็เป็นพัฒนาการของ TFEX ตลอด 13 ปี ซึ่งผมคิดว่า TFEX ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราจะปรับปรุงและพัฒนาให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น"

คุณชาญชัย กล่าวต่อว่า ในแง่ปริมาณการซื้อขายของ TFEX ถือว่าอยู่ในระดับพอใช้ได้ แต่ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้าใจของคนในอุตสาหกรรม อาทิ ถ้าเราเข้าใจสินค้า Options มากขึ้นว่าคืออะไร และใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้คล่อง ปริมาณธุรกรรมก็จะหลากหลายและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะแค่ TFEX แต่รวมถึงการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะเพิ่มขึ้นและเติบโตไปด้วยกัน "ผมมองว่าความเข้าใจและการใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เป็น ทำให้เราสามารถนำสินค้าเหล่านี้ไปทำให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ ซึ่งก็จะเกิดธุรกรรมที่มากขึ้น"

ปีนี้อยากเห็นผู้ลงทุนมีพัฒนาการในการซื้อขาย เพราะในทุกตลาดควรมีผู้ลงทุนทุกกลุ่ม และทุกกลุ่มมีความแข็งแรงเท่ากันหมด ลักษณะแบบนี้คือตลาดที่สมบูรณ์ ซึ่งการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ ไม่จำเป็นต้องเก็งกำไรเสมอไป แต่เป็นการลงทุนที่แตกต่าง และจะมีการให้ความรู้กับผู้ลงทุนทั่วไป เพื่อปรับมุมมองการซื้อขายใน TFEX ไม่ใช่แค่เพื่อเก็งกำไร แต่สามารถใช้เพื่อการบริหารพอร์ตหรือกระจายความเสี่ยงของพอร์ตได้

ด้านคุณธนวัฒน์ พานิชเกษม กรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารการลงทุนและค้าหลักทรัพย์ บล. ไทยพาณิชย์ ระบุว่า ผู้ลงทุนสถาบันแทบไม่ได้ใช้สินค้าใน TFEX เลย ซึ่งจริงๆ มีความต้องการใช้ แต่เกณฑ์ออกแบบมาเพื่อเอื้อต่อผู้ลงทุนทั่วไปที่เน้นใช้ตราสารอนุพันธ์เป็นเครื่องมือเพื่อซื้อขายมากกว่าลงทุนระยะยาว และในระยะแรกยังถูกข้อจำกัดด้วยเกณฑ์การลงทุน ที่หลังจากลงทุนแล้วจะต้องมีเงินไว้เพื่อรองรับการใช้สิทธิ แต่ในปี 2558-2559 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการแก้ไขเกณฑ์ ทำให้กองทุนหรือสถาบันลงทุนได้ แต่ก็ยังค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเน้นซื้อขาย SET50 Index Futures เนื่องจากมีสภาพคล่องสูง

คุณธนวัฒน์ ยังเชื่อว่าสถาบันจะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ต้องมีการคลายกฎเกณฑ์บางอย่าง เพื่อให้เขาเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น และอยากให้มีการเพิ่มปริมาณของ Custodian เนื่องจากมีเพียงไม่กี่รายที่ให้บริการ

คุณอติ อติกุล CMT, CFA, FRM ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ปีนี้ TFEX น่าจะมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นที่ปีนี้เทรดกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น SET50 Index Futures ใน TFEX ก็น่าจะเทรดกันที่ระดับ 3.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ส่วน Stock Futures ก็น่าจะมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 3-4 พันล้านบาท

คุณอติ เชื่อว่า SET50 Index Futures เป็นสินค้าที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากผู้ลงทุนทั่วไปและลูกค้าสถาบันมีความสนใจซื้อขายเพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวน DW ที่อ้างอิงกับ SET50 Index มีมากขึ้น จึงทำให้ SET50 Index Futures มีสภาพคล่องสูงมาก และเมื่อเทียบกับไต้หวันซึ่งสินค้า Index Futures บูมมาก มูลค่าการซื้อขายโตกว่าตัวตลาดหุ้นถึง 200-300% ขณะที่วอลุ่มของ Gold Futures แม้มีแนวโน้มลดลง แต่วอลุ่มก็ถูกโยกมาซื้อขายใน Gold Online Futures แทน

ทั้งนี้ หากผู้ลงทุนทั่วไปมีปัญหาในการซื้อขาย โดยเฉพาะจังหวะและระดับราคาใดที่เหมาะสมในการเข้า-ออก ควรศึกษาข้อมูลและสอบถามโบรกเกอร์ เพราะโบรกเกอร์จะมีเครื่องมือโดยมีราคาทางทฤษฎี และนำไปคำนวณให้แบบ Real Time เพื่อลดความผิดพลาดในการซื้อขายได้

นอกจากนี้ สัมมนาดังกล่าวยังมีหัวข้อ "เกาะกระแส Algorithmic Trading ก้าวทันนวัตกรรมการเทรด เพิ่มโอกาสทำกำไรใน TFEX" โดย ผศ.ดร. ธนากร ลิขิตาภิวัฒน์ ประธานห้องปฏิบัติการทางการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า Algorithmic Trading เป็นทั้งโอกาส ความเสี่ยง และความท้าทาย โดยเป็นระบบที่นำมาประยุกต์ใช้ในการเทรดหุ้นและอนุพันธ์ได้ ซึ่งในประเทศไทยได้มีการพัฒนาและนำมาใช้บ้างแล้ว

หากผู้ลงทุนต้องการส่งคำสั่งซื้อหรือขายโดยอัตโนมัติแบบไม่ต้องเฝ้าหน้าจอ Algorithmic Trading จะตอบโจทย์ในส่วนนี้ แต่จะตอบโจทย์อย่างไรนั้น กลยุทธ์การซื้อหรือขายมีความหลากหลายไม่มีสูตรตายตัว แต่เราสามารถเลือกให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราต้องการได้ "ในต่างประเทศเขาใช้ Algorithmic Trading ได้กับทุกสินค้า แต่ในไทยส่วนใหญ่ใช้ในตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์ เชื่อว่าในอนาคตจะขยายไปในสินค้าอื่นๆ"

ขณะที่ ดร. สุทธิสิทธิ์ แจ่มดี รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจหลักทรัพย์ บล. กสิกรไทย กล่าวว่า Algorithmic Trading ในต่างประเทศเขาใช้กันมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วง Black Money เพื่อเฝ้าไม่ให้พอร์ตขาดทุน ซึ่งระบบจะสั่งขายทันที เมื่อหุ้นตัวนั้นตกลงมากี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะมี Reaction ไปเรื่อยๆ

สำหรับประเทศไทยเกิดขึ้นรุ่นแรกช่วงปี 2553 เริ่มต้นจากมีคนนำข้อมูลที่ขายเป็นรายเดือนมาเขียนเพื่อทำการประเมินผลและสร้างสัญญาณระบบซื้อขาย แม้สั่งซื้อขายได้ แต่ก็ยังมีปัญหาว่าไม่สามารถส่งสัญญาณกลับมาว่าซื้อขายได้ไหม หลังจากนั้นจึงพัฒนาเป็นการซื้อระบบสำเร็จรูปยกชุดจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการแบบอัตโนมัติและมีระบบป้องกันความเสี่ยงด้วย แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการใช้ระบบ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถเทรดหุ้นและอนุพันธ์เองได้ จัดพอร์ตให้ได้ วันนี้อยู่บ้านสามารถเขียนโปรแกรมเอง ใช้เวลาเรียนรู้ 20 วัน

คุณเจตอาทร สองเมือง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย Quantitative บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า สำหรับ Algorithmic Trading มีทั้งแบบ Machine Learning และกล่อง AI ซึ่งเป็นแบบที่นำมาใช้ประโยชน์ในการลงทุน เพราะสามารถพยากรณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ต่างจากแบบดั้งเดิมก่อนที่จะมี Robot Trading ในเมืองไทย แต่จะเป็นแนวเทคนิคัล คือ Action จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับ Algorithmic และ Condition 1, 2 และ 3 ที่ระบบหรือเรากำหนดเอาไว้ เช่น ถ้า (1) ราคาตลาดตัดเส้น 200 วันขึ้นไป (2) RSI เกิน 50 และ (3) MACD เป็นบวก หากสัญญาณเทคนิคเกิดขึ้นครบทั้ง 3 Conditions ให้ระบบส่งคำส่ง Long หรือ Short Futures ทันที

ด้านคุณสาริศ ลีละเกษมฤกษ์, CISA Head of Quant Department บลป. คลาสสิก ออสสิริส ระบุว่า AI มีความสามารถเรียนรู้ข้อมูลที่มีความซับซ้อนได้มาก ยกตัวอย่าง Google DeepMind บริษัทด้าน AI ผู้พัฒนาอัลฟาโกะหรือโกะหุ่นยนต์ที่แข่งขันชนะแชมป์โลกโกะที่เป็นมนุษย์ได้ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวได้พัฒนาอัลฟาสตาร์ AI ที่แข่งขันด้วยการวางกลยุทธ์ของเกมสตาร์คราฟต์ ที่ซับซ้อนมากกว่าโกะ โดยอัลฟาสตาร์ใช้เวลาเรียนรู้ 3 วัน และสร้างอัลฟาสตาร์หลายๆ ตัวมาแข่งขันกันเองเพื่อหาผู้ชนะ จากนั้นนำตัวที่เก่งที่สุดไปแข่งกับนักเล่นเกมระดับโลก ผลการแข่งขันอัลฟาสตาร์ชนะ 10:0 ขาดลอย เห็นได้ว่า AI สามารถเรียนรู้ข้อมูลที่ซับซ้อน ซึ่งถ้าย้อนกลับมาที่ Financial Market เชื่อว่าในอนาคตผู้พัฒนาระบบจะต้องพัฒนา AI ให้มาทดสอบกับตลาดหุ้นหรือรูปแบบการลงทุนอื่นๆ อย่างแน่นอน

"อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรกระจายความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปแบบ Traditional หรือ Machine Learning และหากลงทุนในสินค้าเดียวอาจมีหลายกลยุทธ์ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และที่สำคัญควรวางแผนเรื่อง Money Management ให้เหมาะสมด้วย"

การลงทุนในยุคนี้ ต้องยอมรับว่าถูกกระแสเทคโนโลยีเข้ามา Disrupt รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนเกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้ลงทุนต้องตามให้ทัน ที่สำคัญต้องเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อเป็นการติดอาวุธ สร้างเกราะป้องกันความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารพอร์ต ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ผู้ลงทุนต้องเผชิญ ดังนั้น Algorithmic Trading นวัตกรรมตลาดทุน หากเข้าใจและใช้เป็นย่อมเกิดประโยชน์ต่อผู้ลงทุนแน่นอน

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า กิจกรรมสัมมนา และติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.TFEX.co.th หรือ Facebook: TFEX Station

HTML::image( HTML::image( HTML::image(