เริ่มแรกสามเณรสมเกียรติเกริ่นว่า "WORK" คือการทำงาน LIKE คือความชอบ หรือ สัมมาอาชีพ ทำงานให้ชอบ ส่วน "มหาชาติ" หมายถึงชาติที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า มีอยู่ 10 ชาติ แต่นิยมเทศน์ชาติที่ 10 เรื่อง "พระเวสสันดร" ที่มี 13 กัณฑ์เพราะทรงเด่นในการทำทาน คือการเสียสละและการให้ โดยผู้ที่ตรัสเรื่องพระเวสสันดรในสมัยพุทธกาล หรือเทศน์องค์แรก คือ พระพุทธเจ้า
ความเป็นมาเรื่องพระเวสสันดร เกิดจากพระนางผุสดี ตอนนั้นเสวยชาติเป็นอัครมเหสีของท้าวสักกะ หรือพระอินทร์ อยากเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้าสักครั้งหนึ่ง ซึ่งพระเวสสันดรพอเกิดมาปั๊บ แบมือได้ ขณะที่เด็กบางคนเกิดมาจะกำมือ โดยอยู่ในเมือง "สีพีนคร" ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก และทรงมีช้างเผือกชื่อ "ปัจจัยนาคี" ช้างเชือกนี้ไปที่ไหนฝนจะตกถูกต้องตามฤดูกาล จนทำให้เมือง "กลิงคราษฎร์" ที่อยู่ข้างๆ แต่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่งตั้งพราหมณ์ทั้ง 8 มาขอช้างจากพระองค์ที่มีจิตใจเมตตา เมื่อได้ทราบข่าวว่าเมืองที่อยู่ข้างๆ ความเดือดร้อน จึงพระราชทานช้างวิเศษนั้น
จะเห็นได้ว่าทรงมีพรหมวิหาร 4 "เมตตาคือความรัก", "กรุณาคือช่วยเหลือ" ทรงมีความรัก ทรงรู้จักช่วยเหลือผู้คนทั้งหลายที่ได้รับความเดือดร้อนให้มีความสุข ให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย
เมื่อพระราชทานช้างคู่บุญคู่บารมีไป ประชาชนนำเรื่องไปกราบทูลพระเจ้าสัญชัย พระบิดาของพระเวสสันดรให้ประหารชีวิตหรือให้ขับไล่ นี่เป็นเพราะพระเวสสันดรทำดีเกินไป เหมือนสุภาษิตที่ว่า จงทำดีแต่อย่าให้มันเด่นจะเป็นภัย เพราะไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน
"ฉะนั้นทำอะไรก็ให้รู้ เอาแต่พอสมควร พอประมาณ ที่ว่า WORK LIKE ชอบในสิ่งที่ชอบ ทุกคนทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด บางทีหน้าที่หรือการงานที่ทำอยู่ปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ แต่ว่าทำผลประโยชน์ คือทำผลผลิตที่เราได้จากสิ่งที่เราไม่ชอบ ถือเป็นรางวัลให้แก่ตัวเอง"
นอกจากนี้พระเวสสันดรก็มีพรหมวิหารข้อที่ 3 "มุทิตา คือความยินดี" ที่ได้เห็นประชาชนมีความสุข ประการสุดท้าย "อุเบกขา คือความวางเฉย" ทรงวางเฉยตอนที่ถูกขับไล่ และก่อนจะถูกขับไล่ก็ยังทำทาน เรียกว่า " สัตตสดกมหาทาน" มี ช้าง 700 ตัวม้า 700 ตัวทาสหญิงทาสชาย ราชรถ อย่างละ700 พระราชทานไปจนหมดสิ้น พอให้ทานเสร็จ พระนางมัทรี พระมเหสี และลูกทั้งสอง ชาลี-กัณหา ก็เสด็จตามไปอยู่ในป่าไปด้วย
พร้อมกันนั้นพระองค์ทรงทางบำเพ็ญทาน คือการวางเฉย ทรงไม่โกรธเคืองเสด็จพ่อ ไม่โกรธเคือง ประชาชนสีพีเมืองที่ขับไล่ ซึ่งทานไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน ให้ความรู้ก็เป็นทาน
อย่างเช่นการมาบรรยายธรรมให้ก็เป็นทาน เรียกว่าธรรมะเป็นทาน หรือว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ" หมายถึงการให้ธรรมะ ย่อมชนะการให้ทั้งปวง" มีเมตตา มีความรัก กรุณา ช่วยเหลือ ส่วนมุทิตา คือความยินดี ไม่อิจฉาริษยา และสุดท้ายคือวางเฉย อุเบกขา ฉะนั้น "WORK LIKE" พอ WORK ก็สามารถนำธรรมะที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะเรื่องความรัก คนเราอยู่ในสังคมก็ต้องช่วยเหลือกัน
เรื่องราวการทำทานของพระเวสสันดรยังไม่หมดสิ้น เพราะมีชูชกมาขอลูกทั้งสองกัณหา-ชาลี เรียกว่า "ปิยบุตรทานบารมี" คือการให้สิ่งที่รักที่สุดในชีวิตเป็นทาน พระองค์จึงตั้งจิตอธิษฐานพระโพธิญาณคือการหลุดพ้น
สามเณรสมเกียรติยังได้อธิบายถึงพรหมชาลสูตรด้วยว่า มีครั้งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมโปรดพระราชาพระเจ้าพิมพิสาร ระหว่างเมืองราชคฤห์ ตอนนั้นมีสุปปิยปริพาชก กับทัตตมานพ สองลุงหลานเห็นขบวนของพระพุทธเจ้าสมณโคดม อยู่ข้างหน้าต่อแถวเดินอย่างสง่างาม สุปปิยปริพาชกก็ตำหนิพระพุทธเจ้า ขณะที่ทัตตมานพเลื่อมใส และอยากเข้าไปอยู่ในพระพุทธศาสนา ภิกษุจึงกลับไปเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง
พระองค์จึงบอกพระภิกษุไปว่า มันคือโลกธรรม 8 ประการ คือ ธรรมที่เป็นธรรมดาของโลก ธรรมที่อยู่คู่โลกมา อย่างเช่น มีลาภ คือสิ่งที่ได้มาทั้งหลาย มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสุขก็มีทุกข์ มีสรรเสริญก็ต้องมีนินทา "นัตถิ โลเก อนินทิโต" ซึ่งอยู่คู่กับการทำงาน ไม่มีใครในโลกที่ไม่ถูกนินทา ทำดีก็โดนว่า ทำไม่ดีก็โดนว่าเช่นกัน
"ทรงบอกด้วยว่า เธอทั้งหลายอย่าไปสนใจ อย่าไปยึดติดมาก ถ้าหากว่าเขาชมก็อย่าไปหลงระเริงในคำชม แต่ถ้าเขาติเตียน เขาด่าก็อย่าไปโกรธ อย่าไปประทุษร้ายเขา เหมือนกับ WORK LIKE ทำงาน ต้องใช้อุเบกขา คือการวางเฉย ชื่นชมยินดีก็ให้รู้ว่าชื่นชมยินดี ติเตียนหรือว่าก็ให้รู้แล้วปรับปรุง ไม่ใช่ผิดแล้วไม่ปรับปรุง คนเราอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง ผู้ที่จะเจริญจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง แต่จะบอกอย่างหนึ่งว่า สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ผู้ที่เจริญที่สุดเขามีพลาดกันได้เหมือนกัน"
สนใจร่วมฟังธรรมะบรรยายในโครงการ"เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ" ได้ที่ชั้น 11 อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ถนนสีลม ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00 -13:30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit