การดำเนินงานของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน

03 May 2019
กระทรวงเกษตรฯ เร่งชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ประจำปีการศึกษา 2562 มุ่งเป้าให้เด็กนักเรียนไทยได้บริโภคนมที่มีคุณภาพ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรโคนมไทย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ประจำปีการศึกษา 2562 ณ โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ว่า การประชุมสัมมนาฯ ในครั้งนี้ มุ่งเน้นที่จะให้การบริหารจัดการเกี่ยวกับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดความซ้ำซ้อนเกี่ยวกับคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่มีอยู่เดิม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ในการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน ได้พิจารณาทบทวนกลไกการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนทั้งระบบ

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนขึ้น ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ ๗๘๘/2562 ลงวันที่ 2 เมษายน 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตามมติรัฐมนตรี รณรงค์การบริโภคนมไปยังสถาบันการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งกำหนดระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อกำกับและควบคุมการดำเนินงานโครงการ ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานในหลายภาคส่วน เพื่อให้เด็กนักเรียนในประเทศไทยได้บริโภคนมที่มีคุณภาพ ตรงต่อเวลา กระจายทั่วถึงทุกพื้นที่ ซึ่งการบริโภคนมนอกจากจะส่งเสริมสุขภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรโคนมไทยด้วย

"ระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนที่ปรับใหม่นี้ จะกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดที่มีเกษตรกรประกอบอาชีพโคนมจำนวนมาก ได้แก่ จังหวัดสระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี และเชียงใหม่ โดยมีหน้าที่ในการกำกับดูแลและบริหารจัดการนมโรงเรียนในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของน้ำนม และการจัดส่งให้ตรงต่อเวลาได้ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ประกอบการและเกษตรกรที่จะเข้าโครงการฯ ต้องมีเอกสารแสดงปริมาณ แหล่งที่มา และคุณภาพของน้ำนมดิบที่ตนเองมี รวมทั้งมีระบบประกันภัยที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ในส่วนกระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการออกเบี้ยปรับ และตัดสิทธิ์ผู้ประกอบการหากพบปัญหานมด้อยคุณภาพ ซึ่งขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการยื่นเอกสารเข้ามาแล้ว 75 ราย อยู่ระหว่างแจ้งรายละเอียดและเงื่อนไขโครงการฯ ส่วนปริมาณความต้องการน้ำนมในปัจจุบันอยู่ที่วันละ 1,078 ตัน/วัน เป็นไปตามฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ และมีการบูรณาการไปยังหน่วยงานอื่น เช่น ระบบการตรวจสอบคุณภาพน้ำนมโดยองค์การอาหารและยา (อย.) การกำกับดูแลการกระจายนมโรงเรียนไปอย่างทั่วถึงโดยกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ยืนยันว่าสามารถส่งนมโรงเรียนถึงมือนักเรียนทันเปิดเทอมนี้แน่นอน" นายกฤษฎา กล่าว.