ทีเซลส์ จับมือร่วมกับ มูลนิธิอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “สร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์” ครั้งที่ 10

03 May 2019
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับ มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ "สร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 10" วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2562 เวลา 08.00 - 17.00 น. ณ ห้องคริสตรัล บอมรูม ชั้น 2 โรงแรมตวันนา ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพฯ
ทีเซลส์ จับมือร่วมกับ มูลนิธิอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “สร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์” ครั้งที่ 10

ดร.ชรีย์พร ภูมา ผู้อำนวยการโปรแกรมเวชนครและสารสนเทศชีวการแพทย์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "ทีเซลส์ (TCELS) เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงการลดความเลื่อมล้ำในสังคมตามนโยบายรัฐบาล การอบรมครั้งนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ทราบถึงการดูแลตนเองให้ห่างไกลอัลไซเมอร์ โดยปีนี้เป็นปีที่ 10 ที่ได้ดำเนินงานร่วมกับทางมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยเหลือสังคมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะบทบาทในการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ทีเซลส์ได้ร่วมดำเนินการร่วมกับทางมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการดำเนินงานในส่วนนี้ โดยเฉพาะเรื่องการดูแลด้านสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ"

"การอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ทราบถึงการดูแลตนเองให้ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขามาร่วมงานกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับทางมูลนิธิฯ พัฒนาแอปพลิเคชัน (Application) "MEMO GAMING" ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยฝึกสมองด้านความจำ จดจำสิ่งต่างๆ วิเคราะห์รูปทรง จดจำตำแหน่งในภาพ ผ่านตัวการ์ตูนเพิ่มสีสันในสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นการออกกำลังสมอง สามารถเกิดกิจกรรมในการออกกำลังสมองที่หลากหลาย ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ สามารถดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ที่ www.alz.or.th""แนวทางการดำเนินในอนาคตของทีเซลส์ (TCELS) จะมีการนำเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์แบบองค์รวมมาใช้ เพื่อพัฒนางานบริการสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์กันการพลัดหลง หรือ ต้นแบบอุปกรณ์ที่ช่วยติดตามกิจกรรมของผู้สูงอายุ เพื่อประโยน์ทางการรักษา รวมถึงเทคโนโลยีการใช้สารสกัดธรรมชาติ หรือ ต้นแบบอุปกรณ์ทางเครื่องมือแพทย์ที่อำนวยความสะดวกด้านการรักษา สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาให้ใช้ได้จริงในอนาคต เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ" ดร.ชรีย์พร กล่าว

นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "กิจกรรมสร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 10 นี้ โดยมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จับมือร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามให้มีการดำเนินงานในเชิงป้องกัน โดยเฉพาะปัญหาของโรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย มีความตั้งใจในการรณรงค์เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยของโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ และลดภาระของโรคที่เกิดขึ้น รวมถึงช่วยญาติพี่น้อง ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่ต้องเผชิญความยากลำบากต่างๆ ให้ก้าวผ่านปัญหาไปได้ด้วยดี"

ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ รองประธานกรรมการและเลขานุการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "การจัดงานครั้งนี้ เกิดจากความตั้งใจและการสนับสนุนของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกระแสสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคอัลไซเมอร์ และให้ทุกส่วนร่วมมือ ร่วมใจกันแก้ไขปัญหา และให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ ความเข้าใจ ในการป้องกันและดูแลตนเอง รวมถึงสามารถดูแลญาติและผู้ใกล้ชิดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม"

"การดำเนินโครงการ "สร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์" นั้น ทางมูลนิธิฯ ได้จัดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 10 แล้ว เป็นงานที่เน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด โดยผสมผสานองค์ความรู้ต่างๆ จนเกิดเป็นแนวคิดการดำเนินโครงการที่เรียกว่า "โรงเรียนผู้สูงอายุ" โดยหลังจากการบรรยายในช่วงเช้า จะมีการแบ่งกลุ่มหมุนเวียนเข้าร่วมกิจกรรมตามห้องเรียนต่างๆ ได้แก่

1. ห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับการออกกำลังสมอง เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฝึกสมอง อันจะส่งผลให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์

2. ห้องเรียนวิชาพลศึกษา เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับการออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้าง ร่างกายให้ผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุภาพ และการออกกำลังกายที่เหมาะกับวัย

3. ห้องเรียนวิชาเทคโนโลยีศึกษา เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น การใช้แอปพลิเคชันในการถ่ายภาพและตกแต่งภาพในสมาร์ทโฟน และแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่น่าสนใจเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและบทบาทของผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับวัย

4. ห้องเรียนวิชาคหกรรมศึกษา เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับการฝึกทำอาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เพื่อโภชนาการที่เหมาะสมกับวัย

5. ห้องเรียนวิชาสุขศึกษา เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับการผ่อนคลายความเครียด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นให้เกิดการผ่อนคลายความเครียดที่เหมาะสมกับวัย

6. ห้องเรียนวิชาดนตรีศึกษา เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับดนตรีบำบัด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นให้เกิดการผ่อนคลายด้านจิตใจ ด้วยดนตรีที่เหมาะสมกับวัย

เกร็ดความรู้ที่ได้รับในการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์ โดยคาดว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้กลับไปใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด และทางมูลนิธิฯ จะดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือสังคมผู้สูงอายุสืบต่อไป" ศ.พญ.นันทิกา กล่าว

ทีเซลส์ จับมือร่วมกับ มูลนิธิอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “สร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์” ครั้งที่ 10