สถานทูตแคนาดาและมูลินิธิอิควล เอเชีย ร่วมจัดปาฐกถาว่าด้วยความยุติธรรมระหว่างคนต่างรุ่น เพื่อความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

14 May 2019
สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิอิควล เอเชีย (Equal Asia Foundation) ได้รับเกียรติจากผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ นักวิชาการ นักการทูตและผู้กำหนดนโยบายรวมกว่า 100 คน ที่มารวมตัวกันเนื่องในโอกาสวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (International Day Against Homophobia, Transphobia, Biphobia - IDAHOT) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี
สถานทูตแคนาดาและมูลินิธิอิควล เอเชีย ร่วมจัดปาฐกถาว่าด้วยความยุติธรรมระหว่างคนต่างรุ่น เพื่อความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

งานในวันนี้ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตแคนาดาประกอบด้วยการอภิปรายโดยผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาเพื่อสะท้อนปัญหาที่ผู้สูงวัยซึ่งมีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญ พร้อมระดมข้อแนะนำสำหรับแนวทางการรับมือต่อสถานการณ์ในอนาคตเพื่อให้หลักประกันด้านการคุ้มครองแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว ผู้ร่วมอภิปรายยังได้เน้นถึงความท้า-ทายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นจากสภาวการณ์การเปลี่ยนผ่านทางประชากรต่อกลุ่มผู้สูงวัยที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้เชี่ยวชาญได้สะท้อนมุมมองด้านความยุติธรรมและการคุ้มครองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานราชากร และภาคประชาสังคมจะประสบสืบเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านทางประชากรของประเทศไทย อีกทั้งยังได้เสวนาเรื่องความต้องการเฉพาะของกลุ่มผู้สูงวัยที่เป็นสตรีข้ามเพศ บุคคลข้ามเพศและผู้ที่มีความพิการด้านต่าง ๆ ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการนำเสนอแนวทางสำคัญด้านความยุติธรรมหว่างคนต่างรุ่นเพื่อเป็นโอกาสที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมกำหนดโมเดลหรือรูปแบบการส่งเสริมในประเทศไทยเพื่อให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นเป็นตัวอย่างแก่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

นายไรอัน ฟิกเรโด (Ryan Figueiredo) ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอิควล เอเชียกล่าวว่า "ประเทศไทยอยู่ในจุดเปลี่ยนแปลงในแง่ของอนาคตทางการเมือง แต่ทว่ายังมีสิ่งที่ไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควรในวงกว้างคือการที่ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านทางประชากรอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาประเทศ" เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก โดยภายในปี 2593 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคม ผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ โดยจะมีผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 35 ของประชากรทั้งหมด ผลกระทบทางด้านนโยบายทางการเงินและนโยบายสาธารณะจากการเปลี่ยนผ่านจะนำไปสู่ความท้าทายที่สำคัญยิ่งต่อรัฐบาล กลุ่มประชาสังคม และประเทศโดยรวม โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสภาวะที่กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นชายขอบของสังคมมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเผชิญความเปราะบางมากขึ้นไปอีกเมื่อพวกเขาเข้าสู่ชีวิตบั้นปลาย"

นางโดนิก้า พอตตี้ (Donica Pottie) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยกล่าวว่าแคนาดาได้ให้การสนับสนุนสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่องในฐานะสิทธิมนุษยชน และมีบทบาทสำคัญในการสร้างพันธมิตรระดับโลกที่จำเป็นสำหรับการส่งเสริมสิทธิของบุคคลและกลุ่มเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น การเป็นประธานร่วมของ Equal Rights Coalition (ERC) ประเทศแคนาดายังได้แสดงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเป็นผู้นำในการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม นางโดนิก้ากล่าวเสริมว่า ERC ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 40 ประเทศ ถือเป็นเวทีเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้ก้าวหน้า และส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกคนในสังคม ทั้งในประเทศสมาชิกและประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยการมีส่วนร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานพหุภาคี

สำหรับในประเทศไทยแล้ว เอกอัครราชทูตกล่าวว่าแคนาดาได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง EAF ในส่วนประเด็นความสนใจของ EAF ท่านได้แบ่งปันว่า "กลุ่มผู้สูงวัยที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหามากมาย อาทิ การไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการขาดการคุ้มครองทางสังคม ทั้งนี้ประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าในการพัฒนานโยบายที่ส่งเสริมให้พลเมืองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่างไรก็ดีนโยบายเหล่านี้มักไม่ตระหนักถึงความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มผู้สูงวัยที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงหรือดำเนินการเพียงเล็กน้อยในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มบุคคลดังกล่าวในการเข้าสู่บั้นปลายของชีวิตความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้มีความแตกต่างอย่างมีลักษณะเฉพาะ ทั้งยังต้องมีการประเมินภายในตัวตนของพวกเขาอีกด้วย"

นายไรอันกล่าวเพิ่มเติมว่าความอ่อนแอและเปราะบางของผู้สูงวัยไม่ว่าจะมีความหลากหลายทางเพศหรือไม่นั้นเลวร้ายลงด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ามีความแปลกแยกกันมากขึ้นระหว่างคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า "ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้เกิดความจำเป็นในการทำงานที่เน้นระหว่างคนต่างวัยเพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรมระหว่างคนต่างวัยในสังคมและบรรดากลุ่มต่าง ๆ"

มูลนิธิอิควล เอเชียเป็นมูลนิธิด้านนวัตกรรมและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ โดยทำงานด้านโครงการบ่มเพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ล่าสุดทางมูลนิธิฯ พบว่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งที่เป็นผู้ที่อายุน้อยและผู้สูงวัยต่างเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เหมือนใครในชีวิตประจำวัน ด้านศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน และผู้เชี่ยวชาญอิสระคนแรกของสหประชาชาติด้านความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศกล่าวว่า "การที่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งที่มีอายุน้อยและอายุมากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างรุ่นเพื่อเป็นกลไกในการพัฒนารูปแบบใหม่ของการให้การสนับสนุน การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการสร้างความแข็งแกร่งจึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงสำหรับอนาคต นอกจากนี้คุณค่าด้านความเสมอภาคระหว่างคนต่างวัยเพื่อขจัดบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นภัย แก้ไขปัญหาด้านคตินิยม และสร้างอิทธิพลต่อพฤติกรรมและทัศนคติจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรเพิกเฉย"

การอภิปรายเสวนาได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิดังนี้

  • คุณสว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ซึ่งพูดเกี่ยวกับปัญหาที่ผู้สูงอายุเผชิญในประเทศไทยและช่องว่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างคนหนุ่มสาวและคนชราทำให้ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบ
  • คุณธัญญวาริน สุขะพิสิษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงข้ามเพศคนแรกของประเทศไทยพูดถึงเส้นทางชีวิตของเธอและการเปลี่ยนแปลงที่เธอต้องการเห็นในผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้เธอยังได้พูดคุยเกี่ยวกับความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้สูงวัยและอ่อนวัยซึ่งเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงได้
  • คุณอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพูดถึงการสนับสนุนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดเตรียมไว้ให้แก่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย พร้อมพูดถึงความจำเป็นในการพิจารณาและค้นหาจุดที่อ่อนที่สุดในชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
  • ศาสตราจารย์ดักลาส แซนเดอร์สจากมหาวิทยาลัยมหิดลพูดถึงแนวคิดเรื่องความยุติธรรมระหว่างคนต่างรุ่นและสาเหตุที่ประเด็นนั้นสำคัญต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ทั้งนี้ได้มีการเปิดตัวมูลนิธิอิควล เอเชียอย่างเป็นทางการ พร้อมงานเลี้ยงรับรองแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน