กรมประมง ปรับกระชับพื้นที่ - เวลา “ฤดูน้ำแดง 62” คุ้มครองสัตว์น้ำจืดในฤดูมีไข่ เหตุ..คาดฤดูฝนมาช้ากว่าปกติ

15 May 2019
กรมประมง เตรียมบังคับใช้มาตรการในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนทั่วประเทศ ประจำปี 2562 นี้ (ฤดูน้ำแดง) ตามประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำประมง และเงื่อนไขในการทำประมง พ.ศ. 2562 ซึ่งกรมประมงได้ประเมินประสิทธิภาพภายหลังการบังคับใช้ประกาศของกรมประมงจากเมื่อปีที่แล้ว และปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของทรัพยากรประมงน้ำจืดในปัจจุบันและให้สอดคล้องกับฤดูฝนในปี 2562 ที่มาช้ากว่าปกติ

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงถึงรายละเอียดว่า มาตรการกำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำประมง และเงื่อนไขในการทำการประมง พ.ศ. 2562 นอกจากกรมประมงจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ในการกำหนดมาตรการฯแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ออกไปอีก 15 วัน ซึ่งจากเดิมจะเริ่มในวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 มิถุนายน เนื่องมาจากการเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่ล่าช้ากว่าเดิม โดยแบ่งช่วงเวลาการดำเนินมาตรการฤดูสัตว์น้ำจืดออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ประจำปี 2562 ในห้วงเวลาและพื้นที่ดังต่อไปนี้

วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 สิงหาคม 2562 จำนวน 40 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร เลย สกลนคร สุรินทร์ ศรีสะเกษ หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล สุราษฎร์ธานี และพัทลุง รวมถึงพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบนและตอนกลาง

วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน 2562 ปรับปรุงลดเหลือ 33 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สระบุรี อ่างทอง อุทัยธานี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว ตาก ขอนแก่น ชัยภูมิ หนองบัวลำภู และกรุงเทพมหานคร

วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง

โดยการปรับปรุงมาตรการฯในปีนี้ มีการพิจารณาถึงความเหมาะสม สอดคล้องกับระบบนิเวศของทรัพยากรสัตว์น้ำจืด และปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ รวมทั้งเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตการทำประมงในแหล่งน้ำจืดของชาวบ้านให้น้อยที่สุด กรมประมงจึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมง โปรดปฏิบัติตามข้อกฎหมายและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษา ฟื้นฟู ดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำจืดให้มีใช้อย่างยั่งยืนไปถึงลูกหลานของพวกเราต่อไปในอนาคต อธิบดีกล่าว