ดร.สุวิช ธรรมปาโล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าประเทศไทยมีผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงประมาณ 10 ล้านคน และเกือบครึ่งหนึ่งไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตเรื้อรัง ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น จำนวน 448,669 คน จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือจังหวัดสงขลา จำนวน 143,860 คน รองลงมาคือจังหวัดนราธิวาส จำนวน 69,703 คน จังหวัดตรัง จำนวน 62,450 คน จังหวัดพัทลุง จำนวน 56,485 คน จังหวัดปัตตานี จำนวน51,389 คน จังหวัดยะลา จำนวน 37,965 คน และจังหวัดสตูล 26,817 คน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคเห็นความสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคความดันโลหิตสูง จึงสื่อสารประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนภายใต้ประเด็นรณรงค์ ของปีพ.ศ. 2562 คือ ท่านทราบระดับความดัน โลหิตของท่านหรือไม่ (Know Your Numbers) เพื่อให้ประชาชนทราบค่าความดันโลหิตของตนเอง
"การวัดความดันโลหิตเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ประชาชนทราบค่าความดันโลหิตได้ เป็นวิธีการที่ง่าย ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องเจาะเลือด ใช้เพียงเครื่องวัดความดันโลหิต และไม่จำเป็นต้องไปวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลเสมอไป แต่สามารถวัดที่ใดก็ได้ที่สะดวกและสามารถติดตามระดับความดันโลหิตของตนเองได้"
ความดันโลหิตคือแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งวัดได้ตัวเลขจำนวน 2 ค่า เช่น ค่าความดันโลหิตปกติเท่ากับ 120/80 มิลลิเมตรปรอท เลขตัวบนคือค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจบีบตัว ส่วนเลขตัวล่าง คือความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจคลายตัว ความดันโลหิตปกติควรมีค่าความดันโลหิตตัวบนน้อยกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่างน้อยกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท ส่วนภาวะความดันโลหิตสูงจะหมายถึงค่าความดันโลหิตตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท หรือค่าความดันโลหิตตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท
ดร.นายแพทย์ สุวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคไม่ติดต่อ ที่มีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสามารถป้องกันได้ง่ายๆ ทำได้โดยลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มและไม่เติมเครื่องปรุงที่มีรสเค็มเพิ่ม ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มที่มี่ส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่สำคัญจะต้องวัดความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้รู้ค่าความดันโลหิตของตัวเอง หากพบว่าค่าความดันผิดปกติ ให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อไป
หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit