งานวิจัย ยืนยัน ระบบนิเวศป่าชายเลนไทย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เบื้องต้นพบพื้นที่ป่าชายเลน 16 อำเภอใน 8 จังหวัด คุ้มค่าแก่การอนุรักษ์

15 May 2019
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
งานวิจัย ยืนยัน ระบบนิเวศป่าชายเลนไทย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เบื้องต้นพบพื้นที่ป่าชายเลน 16 อำเภอใน 8 จังหวัด คุ้มค่าแก่การอนุรักษ์

ป่าชายเลน เป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณประโยชน์ และมีความหลากหลายทางด้านชีวภาพสูง นับเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาลต่อมนุษย์ แม้จะเป็นที่ทราบกันว่าป่าชายเลนมีประโยชน์ทั้งในการเป็นแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งพลังงาน แหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอน หรือช่วยลดความเสียหายเมื่อเกิดอุทกภัยทางธรรมชาติ แต่ที่ผ่านมายังขาดข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนและไม่มีการพูดถึงมูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศป่าชายเลนในด้านต่างๆเหล่านี้

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนอยู่ราว 1.5 ล้านไร่ แต่เนื่องจากสถานภาพของป่าชายเลนได้เปลี่ยนแปลงไปมากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน นอกจากนี้ยังมีนโยบายเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการฟื้นฟูป่าชายเลนที่มีความชัดเจนมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการศึกษาภายใต้โครงการวิจัยมูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศป่าชายเลนในด้านต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

รศ.ดร.อรพรรณ ณ บางช้าง-ศรีเสาวลักษณ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ในฐานะนักวิจัยโครงการ เปิดเผยว่า ที่ดินบริเวณแนวชายฝั่งทะเลนั้นมีจำกัด เมื่อมีแรงกดดันให้เปลี่ยนแปลงไปจึงต้องตั้งคำถามว่าการใช้ที่ดินแบบไหนที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด การศึกษานี้จึงมีเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์มูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศป่าชายเลนด้านต่างๆ เพื่อให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับมูลค่าเศรษฐกิจที่จะสูญเสียไปหากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนไปใช้เพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้หากลงุทนในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน เช่น หากมีการลงทุนเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม มูลค่าเศรษฐกิจที่จะได้จากระบบนิเวศที่จะกลับมามีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจในด้านนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม

"เพราะระบบนิเวศป่าชายเลนเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ คนส่วนใหญจึงอาจจะมองข้ามความสำคัญของป่าชายเลน ในฐานะที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจึงต้องมีการประเมินมูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศป่าชายเลนที่ไม่เคยมีการคำนวณเป็นมูลค่าที่เป็นตัวเงินมานานแล้ว เพื่อให้ปริมาณการใช้ประโยซน์และวิธีการใช้สะท้อนให้เห็นมูลค่าที่แท้จริงซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างหลักประกันของความยั่งยืนของทรัพยากรนี้

เช่นภาพตัวอย่างกรณีสินามิ จะมีใครบ้างที่มองเห็นว่าป่าชายเลน ช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชายฝั่งทะเล หรือความเสียหายที่เบาบางลงนั้นเป็นเพราะประโยชน์ของป่าชายเลน ขณะที่มีงานวิจัยยืนยันว่า พื้นที่ที่มีป่าชายเลน จำนวนความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินจะน้อยกว่าจุดที่ไม่มีป่าชายเลน ดังนั้น การมีหรือไม่มีป่าชายเลนเมื่อเกิดเหตุภัยธรรมชาติ ย่อมมีผลถึงมูลค่าความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน"

โครงการนี้ได้มีการทบทวนงานวิจัยที่เคยมีการศึกษามาก่อนหน้านี้ และนำมาวิเคราะห์หรือประเมินมูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศป่าชายเลนหลายๆ ด้าน ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนให้มากขึ้น ทั้งฝั่งอ่าวไทยและและฝั่งอันดามัน เพื่อต้องการความแตกต่างระหว่างพื้นที่ป่าชายเลน โดยได้ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศป่าชายเลน ใน 3 ส่วน คือ 1.มูลค่าจากการใช้ประโยชน์ด้านการประมง 2.มูลค่าจากการใช้ทางอ้อมในด้านประโยชน์ในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน และ 3.มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้

ดังนั้น เพื่อวิเคราะห์มูลค่าจากการใช้ทางตรงด้านการประมง งานวิจัยนี้ได้สัมภาษณ์ชาวประมงทั้งหมด 778 ราย จากพื้นที่ 42 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านในจังหวัดสมุทรสงคราม 6 หมู่บ้าน , ตราด 15 หมู่บ้าน , ระนอง 4 หมู่บ้าน , สุราษฏร์ธานี 7 หมู่บ้าน และพังงา 10 หมู่บ้าน เพื่อเป็นตัวแทนของพื้นที่ชายฝั่งทะเลของแต่ละภาค พบว่า สัตว์น้ำที่ชาวประมงชายฝั่งจับได้ทั้งหมด 90 ชนิด โดยมี กุ้ง 8 ชนิด ได้แก่ กุ้งกุลาดำ กุ้งขาว กุ้งแชบ๊วย กุ้งมังกร กุ้งลายเสือก กุ้งหัวมัน และกุ้งเรียว รวมถึงกั้งแก้ว , ปู 8 ชนิด คือ ปูกะตอย ปูขาว ปูดาว ปูดำ ปูแดง ปูม้า ปูแสม และปูหิน , หอย 7 ชนิด ได้แก่ หอยขาว หอยแครง หอยแฉลบ หอยตลับ หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยหลอด นอจากนี้ยังเป็นหมึก แมงดา และปลิง ส่วนชนิดของปลาที่พบมีประมาณ 42 ชนิด ในจำนวนนี้มีทั้งสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งในป่าชายเลน บริเวณหาดเลน และในบริเวณทะเลเปิด แต่ไม่ว่าจะจับได้ในที่ใด ประมาณร้อยละ 90 เป็นสัตว์น้ำที่ต้องอาศัยป่าชายเลน โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสัตว์น้ำที่อาศัยป่าชายเลนตลอดวงจรชีวิต และสัตว์น้ำที่อาศัยป่าชายเลนในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต และจากการคำนวณรายได้สุทธิ พบว่า มูลค่า(รายได้สุทธิ) ของป่าชายเลนในด้านการประมงพื้นต่อไร่สูงสุด คือ ที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเท่ากับ 5,015 บาท รองลงมาคือ อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี 1,766 บาท (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งพื้นที่ และประเภทสัตว์น้ำที่จับได้)

รศ.ดร.อรพรรณ กล่าวว่า "มูลค่าที่ได้จากการประมงพื้นที่ป่าชายเลนนั้น มีความแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทยหรือฝั่งอันดามัน และประโยชน์ในแง่การประมงนั้น มีมากกว่าที่เราคิดไว้ เพราะไม่ใช่แค่สัตว์น้ำที่จับได้ในบริเวณป่าชายเลน แต่จะต้องรวมถึงสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งในบริเวณปะการังและในบริเวณทะเลเปิดที่อาศัยป่าชายเลนในช่วงใดช่วงหนึ่งของวงจรชีวิต หากไม่มีพื้นที่ป่าชายเลนแล้ว การประมงก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย"

สำหรับการวิเคราะห์มูลค่าจากการใช้ทางอ้อมในด้านการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนนั้น รศ.ดร.อรพรรณ กล่าวว่า "ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจป่าบกซึ่งถือเป็นป่าต้นน้ำ แต่หารู้ไม่ว่าหญ้าทะเลที่ป่าชายเลนนั้น สามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกถึง 2 เท่า โดยหญ้าทะเลสามารถดูดซับคาร์บอนได้ถึง 3 ส่วน ทั้งกิ่งใบ ลำต้น ไปจนถึงรากซึ่งถือว่าเยอะมาก" งานวิจัยนี้ ได้นำข้อมูลของราคาที่ดินในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ใช้เป็นตัวแทนต้นทุนค่าเสียโอกาสของที่ดินมาวิเคราะห์ร่วมกับปริมาณของคาร์บอนหรือสต๊อกคาร์บอนที่สะสมอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน มูลค่าหรือราคาที่จำหน่ายในตลาดที่รับซื้อคาร์บอนเครดิด อาทิ ตลาด European Union Emission Trading System (EU ETS) หรืออียู, ตลาดซื้อขายโดยสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) และต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน (หรือ Social cost of Carbon หมายถึง คาร์บอนฯ 1 ตันหากถูกปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศจะก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึงประมาณ 40 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อ 1 ตันคาร์บอนฯ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก)นั้น มีที่ไหนบ้าง

ผลการศึกษาพบว่า หากใช้ราคามูลค่าการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตของตลาดอียู (EU ETS) และตลาดซื้อขายโดยสมัครใจ จะมีพื้นที่ที่คุ้มทุนในการที่จะอนุรักษ์ป่าชายเลนไว้ในพื้นที่ 12 อำเภอ แต่ถ้าเปรียบเทียบต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน (Social cost of Carbon) แล้ว พบว่า อำเภอที่จะคุ้มทุนเพิ่มเป็น 16 อำเภอ ใน 8 จังหวัด (ปริมาณคาร์บอนต่อพื้นที่ป่าชายเลน 1 เฮกเตอร์ หรือเท่ากับ 1.25 ไร่) ได้แก่ อำเภอแหลมสิงห์ , อำเภอขลุง และอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทรบุรี, อำเภอละแม และอำเภอสวี จังหวัดชุมพร, อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช, อำเภอเมือง จังหวัดพังงา, กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง, อำเภอท่าแพ และอำเภอละงู จังหวัดสตูล, อำเภอเมืองและอำเภอกาญจนดิษฐ์ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่อำเภอปะเหลียน , อำเภอสิเกา , อำเภอกันตัง และกิ่งอำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง

รศ.ดร.อรพรรณ อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการวิเคราะห์มูลค่าด้านการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนคือ ค่าเสียโอกาสของที่ดิน หากพื้นที่ไหนที่มีปริมาณการสะสมของคาร์บอนหรือสต๊อกคาร์บอนสูง และมีค่าเสียโอกาสของที่ดินต่ำ(ราคาที่ดินถูก) การรักษาป่าชายเลนไว้เพื่อประโยชน์ดังกล่าวก็อาจคุ้มค่าที่จะอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้ประเทศไทยมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งต่อไปในอนาคตจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่รุนแรงจะทำให้ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น จังหวัดสตูล ซึ่งมีพื้นที่ป่าชายเลนที่มีปริมาณการสะสมของคาร์บอนมากและราคาที่ดินไม่สูง จึงมีค่าเสียโอกาสต่ำ และคุ้มค่าที่จะเก็บรักษาไว้ ส่วนพื้นที่ไหนที่ราคาที่ดินแพงก็ไม่คุ้มที่จะอนุรักษ์ไว้จากการเสียโอกาส เช่น ชลบุรี ภูเก็ต ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ เราไม่ได้บอกว่าจะต้องรักษาป่าชายเลนไว้อย่างเดียว แต่จะต้องดูว่าพื้นที่ไหนที่มีต้นทุนต่ำและมีปริมาณการสะสมหรือดูดซับคาร์บอนอยู่มากพื้นที่นั้นก็สมควรเก็บรักษาไว้ เพราะมีโอกาสที่จะคุ้มทุนมากกว่า ดังเช่น ป่าชายเลนในพื้นที่ 16 อำเภอ ที่สมควรจะอนุรักษ์รักษาป่าชายเลนไว้ ไม่ควรไปเปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนมูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้นั้น รศ.ดร.อรพรรณ ได้ให้คำนิยามว่า "มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ หมายถึงคุณค่าที่ให้กับทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่เราไม่ได้ประโยชน์ไม่ว่าวันนี้หรือวันข้างหน้า หรือ non-use value หรือ มูลค่าความเต็มใจที่จะจ่าย เพื่อประโยชน์ในการลงทุนอนุรักษ์ป่าชายเลนไว้ ซึ่งมูลค่านี้ยังเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก และการที่บอกว่าป่าชายเลนสำคัญควรที่จะอนุรักษ์หรือรักษาไว้ จึงต้องมีวิธีการสร้างตลาดสมมุติ ซึ่งก็คือมาตรการต่างๆที่จะนำมาใช้เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อตั้งคำถามว่าประชาชนทั่วไปจะเต็มใจจ่ายเพื่อสนับสนุนให้เกิดมาตรการเหล่านี้หรือไม่ การตัดสินใจจะจ่ายหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันจะให้ความสำคํญกับป่าชายเลนมากน้อยแค่ไหน และเต็มใจที่จะจัดสรรเงินส่วนหนึ่งมาสนับสนุนหรือไม่ จากผลการสัมภาษณ์ครัวเรือนทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น โดยตัวแปรที่นำมาใช้คำนวณคือ ความเต็มใจ , ราคาที่จะให้จ่าย (bid) และรายได้ (income) เบื้องต้นพบว่า มูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายต่อครัวเรือน สำหรับคนกรุงเทพฯ เท่ากับ 385 บาทต่อครัวเรือน ส่วนมูลค่าที่เต็มใจที่จะจ่ายของคนที่อยู่ในจังหวัดอื่นเท่ากับ 206 บาทต่อครัวเรือน เมื่อคูณกับจำนวนครัวเรือนทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น จะได้มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ของคนทั้งประเทศเท่ากับ 4,895.76 ล้านบาท หารด้วยพื้นที่ป่าชายเลน 1.5 ล้านไร่ ก็จะได้มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้เท่ากับ 3,199.85 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่ได้จากการกำหนดการใช้ที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลน พบว่า ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2543-2557 พื้นที่ป่านชายเลนลดลงร้อยละ 9.2 โดยการลดลงของพื้นที่ป่าชายเลนนั้น มักจะเกิดนอกพื้นที่ที่อยู่นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงการจำแนกที่ดินที่ประกาศจากเขตอนุรักษ์เป็นเขตเศรษฐกิจโซน A และโซน B อาจมีผลในการที่จะลดอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนลงได้ซึ่งข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ จะเป็นหลักฐานยืนยันว่า ป่าชายเลนนั้นมีประโยชน์ในการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ หากพื้นที่ป่าชายเลนลดลงหรือเสื่อมสภาพย่อมส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประมงพื้นบ้านและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง และยังเป็นครั้งแรกที่มีตัวเลขยืนยันชัดเจนเพื่อสนับสนุนในเชิงวิชาการ และในด้านนโยบายยังสามารถใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

HTML::image( HTML::image( HTML::image(