สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปวันที่ 6-10 พ.ค. 62 และคาดการณ์วันที่ 13-17 พ.ค. 62 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

13 May 2019
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
  • 10 พ.ค.62 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.3 ล้านล้านบาท) จากเดิม 10% ขึ้นเป็น 25% อนึ่ง จีนประกาศจะใช้มาตรการตอบโต้ "ตามความเหมาะสม" อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Trump ระบุว่า การเจรจาจะยังเดินหน้าต่อไป และการปรับเปลี่ยนแผนการขึ้นภาษีจะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการเจรจา
  • รายงานฉบับเดือน พ.ค. 62 ของ Energy Information Administration (EIA) ระบุว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2562 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 12.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ในปีนี้อยู่ที่ 20.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 250,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 360,000 บาร์เรลต่อวัน
  • รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak กล่าวว่ารัสเซียจะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่อ Druzhba ไปยังยุโรปตอนกลาง รวมถึงประเทศเยอรมนีได้ตามปกติหลังจากการทำความสะอาดท่อขนส่งแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ค. 62 อย่างไรก็ดี บริษัท Rosneft ของรัสเซียเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ ESPO จากท่า Kozmino ในมหาสมุทรแปซิฟิก ปริมาณ 750,000 บาร์เรลส่งมอบ 30-31 พ.ค. 62 ส่งผลให้ปริมาณส่งออกจากท่าดังกล่าว เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 735,000 บาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ค. 62กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 32,429 สัญญา มาอยู่ที่ 275,699 สัญญา ลดลงต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ สู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.62ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
  • สถานการณ์การเมืองระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านตึงเครียดหลังมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่เริ่มบังคับใช้ วันที่ 2 พ.ค. 62 ส่งผลให้ผู้นำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านยุติการนำเข้า ในเดือน พ.ค. 62 ส่งผลให้อิหร่านขู่ปิดช่องแคบ Hormuz ที่เป็นช่องทางการขนส่งน้ำมันออกจากอ่าวเปอร์เซีย และวันที่ 6 พ.ค. 62 รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องบินทิ้งระเบิดหลายลำไปยังตะวันออกกลา งเพื่อส่งสัญญาณเตือนอิหร่านว่าสหรัฐฯ พร้อมตอบโต้หากอิหร่านกีดขวางเส้นทางเดินเรือหรือโจมตีที่ตั้งทางทหารของสหรัฐฯ ทั้งทางบกและทางทะเล
  • 8 พ.ค. 62 ประธานาธิบดีอิหร่าน นาย Hassan Rouhani ประกาศอิหร่านจะเดินเครื่อง Enriched Uranium หากประเทศคู่สัญญาไม่ทำตามข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ ล่าสุด สหภาพยุโรป (EU) มีแผนพิทักษ์ข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับอิหร่าน แม้ก่อนหน้านี้อิหร่านถอนตัว เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทั้งนี้ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี พร้อมแสดงว่า EU จะรักษาการค้ากับอิหร่าน และพยายามป้องกันมิให้อิหร่านพัฒนาโครงการนิวเคลียร์
  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 466.6 ล้านบาร์เรล
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 805 แท่น
  • ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1,806 สัญญา มาอยู่ที่ 406,175 สัญญา

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับลดลงทุกชนิด อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดตลาดวันศุกร์เพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังมีกระแสข่าวเรือขนส่งน้ำมัน 7 ลำ ถูกโจมตีที่ท่าเรือ Fujairah ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) แต่ทางการ UAE แถลงปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว และท่าเรือ Fujairah ยังคงดำเนินการตามปกติ แต่มีเรือพาณิชย์ 4 ลำ ตกเป็นเป้าหมายการปฏิบัติการก่อการร้าย ในน่านน้ำ UAE อีกทั้ง Revolutionary Guards ของอิหร่านแถลงเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่เคลื่อนมายังอ่าวเปอร์เซีย มีเครื่องบินอย่างน้อย 40-50 ลำ และกองกำลังประมาณ 6,000 นาย ซึ่งเคยเป็นภัยคุกคามอิหร่าน แต่ขณะนี้ถือเป็นเป้าหมายการโจมตี อย่างไรก็ตามการเจรจาทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ยังไม่บรรลุข้อตกลง โดยสหรัฐฯ ต้องการให้จีนแก้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม แต่จีนไม่ยินยอม เป็นผลให้วันที่ 10 พ.ค. 62 สหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ประมาณ 5,700 รายการ จาก 10 % เป็น 25 % มูลค่ารวม 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump สั่งให้เตรียมดำเนินการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ที่เหลือทั้งหมดอีกเป็นมูลค่ารวม 325,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่รัสเซียพยายามแก้ไขปัญหาน้ำมันดิบปนเปื้อน Organic Chloride ในท่อขนส่ง Druzhba (ปริมาณสูบถ่าย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) โดยขนส่งน้ำมันดิบทางท่าเรือ Ust-Luga ผ่านทะเลบอลติก แต่ผู้ค้ารายงานน้ำมันดิบบางเที่ยวเรือยังคงมีการปนเปื้อน ให้จับตามองสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยจีนประกาศจะตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69.0-74.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 60.5-65.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68.5-73.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจากแรงขายของไต้หวัน และ จีนที่ปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังรัฐบาลจีนประกาศโควตาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป รอบ 2/62 (ยังไม่กำหนดปริมาณและประเภทน้ำมันสำเร็จรูป) ให้กลุ่มบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ได้แก่ Sinopec ปริมาณ 13.17 ล้านเมตริกตัน, CNPC (PetroChina) ปริมาณ 9.55 ล้านเมตริกตัน, CNOOC ปริมาณ 2.84 ล้านเมตริกตัน, และ Sinopec ปริมาณ 2.83 ล้านเมตริกตัน อีกทั้ง Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานญี่ปุ่นส่งออกน้ำมันเบนซิน วันที่ 28 เม.ย. - 4 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 246,000 บาร์เรล อยู่ที่ 282,000 บาร์เรล อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 600,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 226.1 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.12 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.32 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.5-80.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจากกรมศุลกากรจีนหรือ General Administration of Customs (GAC) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน มี.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.2% อยู่ที่ 675,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้ง Arbitrage น้ำมันดีเซลจากภูมิภาคเอเชียไปยังยุโรปเปิด Reuters รายงานผู้ค้าน้ำมันมีแผนส่งออกน้ำมันดีเซลด้วยเรือ VLCC (ปริมาณขนส่งเที่ยวเรือละ 2 ล้านบาร์เรล) จำนวน 8 เที่ยวเดือน มิ.ย. 62 ขณะที่โรงกลั่น Yeosu (กำลังการกลั่น 730,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ GS Caltex ในเกาหลีใต้จะกลับมาเดินเครื่องหน่วย Residue Fluid Catalytic Cracking (RFCC – กำลังการกลั่น 94,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 27 มิ.ย. 62 หลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่ 27 เม.ย. 62 อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 125.6 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.13 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.61 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 81.5-86.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล