รายงานการประชุม World Hydropower Congress ณ กรุงปารีส ในหัวข้อ "การปฏิวัติพลังงานทดแทนสู่อนาคตใหม่ของแม่น้ำ ภูมิอากาศ และมนุษย์" (Connected and Flowing: A renewable future for rivers, climate and people) กล่าวถึงหนทางการดำเนินการปฏิรูปพลังงานทดแทนในปัจจุบัน ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืนในอนาคตทั่วโลก
เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดเก็บพลังงานรูปแบบเหล่านี้นั้นมีต้นทุนต่ำลง ผนวกกับความก้าวหน้าด้านประสิทธิภาพของพลังงาน และโครงข่ายไฟฟ้า ทำให้ปัจจุบัน เราสามารถแจกจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปสู่ผู้ที่ขาดแคลนนับพันล้านคนทั่วโลกได้ โดยที่การผลิตพลังงานรูปแบบใหม่นี้ ก่อให้เกิดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง และยังคงไว้ซึ่งการอนุรักษ์แม่น้ำสายยาวกว่าพันกิโลเมตรที่ไหลอย่างอิสระ
"อนาคตที่ไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ ในราคาย่อมเยา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกับการใช้พลังงานทดแทน ไม่ใช่เพียงมโนภาพอีกต่อไป แต่เราสามารถสร้างอนาคตนั้นได้แล้วตั้งแต่ตอนนี้"เจฟฟ์ ออปเปอร์แมน นักวิจัยด้านน้ำจืดจาก WWF และหัวหน้าคณะวิจัยกล่าว "การเดินหน้าปฏิวัติพลังงานทดแทนจะช่วยให้เรามีอนาคตที่สดใสสำหรับมนุษย์และธรรมชาติ ด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืน ซึ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นทุนต่ำ และสร้างผลกระทบน้อย"
รายงานระบุว่าการเดินหน้าปฏิวัติพลังงานทดแทนนอกจากจะช่วยปกป้องแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่มีความยาวรวมกันกว่า 165,000 ก.ม. จากการถูกทำลายแล้ว ยังสามารถยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงเกินกว่า 1.5 องศา ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และปัญหาปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำจืดลดลงกว่า 83% ตั้งแต่ปีค.ศ. 1970 ได้เช่นกัน
แม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระนั้นก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการต่อระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนปลาน้ำจืดที่เพิ่มขึ้น จากการเชื่อมต่อของแม่น้ำ อันเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่หล่อเลี้ยงประชาชนนับล้าน ทั้งยังลดการทับถมของตะกอนบริเวณปากแม่น้ำ บรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงลดการผุพังของโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันเหลือแม่น้ำเพียง 37% ที่ยังคงไหลอย่างอิสระและเชื่อมต่อกับสายน้ำอื่น โดยสาเหตุหลักมาจากการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ
การปฏิวัติพลังงานทดแทนนั้นนอกจากจะไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาพลังงานน้ำแล้ว ยังสามารถลดความจำเป็นในการสร้างเขื่อนโดยหันไปพึ่งพลังงานแสงอาทิตย์และลมแทน เช่น การปรับปรุงแก้ไขระบบเขื่อนพลังน้ำ หรือการเพิ่มกังหันน้ำ และเครื่องสูบน้ำ ซึ่งสร้างผลกระทบน้อยกว่า และยังอาจช่วยให้ประเทศอื่น ๆ สามารถบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานไฟฟ้าที่สร้างคาร์บอนต่ำ มีราคาย่อมเยา และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ตัวอย่างเช่น รายงานล่าสุดพบว่ากลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำโขง หรือแควน้ำที่ไหลอย่างอิสระในบริเวณใกล้เคียง ส่วนในสาธารณรัฐยูกันดาได้มีการจำลองโครงการดังกล่าว โดยระงับการสร้างเขื่อนสองแห่งในเขตอุทยาน ผลปรากฏว่าโครงการดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของระบบไฟฟ้าแต่อย่างใด
"รายงานชิ้นนี้มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าการปฏิวัติพลังงานทดแทน เพื่อลดการสร้างเขื่อนที่ไม่จำเป็นบนพื้นที่สำคัญอย่างพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง อิรวดี อเมซอน รวมถึงลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วโลก" นายออปเปอร์แมนกล่าว "มันคงเป็นเรื่องน่าเศร้าถ้าเราจะได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนในวันที่สายเกินไปที่จะรักษาไว้ซึ่งแม่น้ำสายสำคัญของโลก"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit