"พื้นที่สีเขียว (Green space)" เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะกับคนเมืองซึ่งมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับกรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่มาก ทั้งที่ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยอุดมไปด้วยความเป็นป่าที่เกิดจาก "สวนผลไม้"
ผศ.ดร.ม.ล.วุฒิพงษ์ ทวีวงศ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และหัวหน้าโครงการวิจัยภูมิทัศน์สวนในบางกอก : การศึกษาคุณค่าด้านนิเวศวิทยาของสวนผลไม้ในการเป็นป่าในเมืองบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตร.ม./คน แต่กรุงเทพฯ นับรวมประชากรแฝงแล้วมีพื้นที่สีเขียวเพียง 3.54 ตร.ม./คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาก แม้ภาครัฐจะมีนโยบายที่เพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่มักเป็นการทำสวนสาธารณะเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ทันกับการขยายตัวของเมือง ถ้าหากศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่าพื้นที่สีเขียวดั้งเดิมของกรุงเทพฯ และโดยรอบ จะเป็นพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะสวนผลไม้เนื่องจากความสมบูรณ์ของดินและน้ำในพื้นที่ แต่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ความเป็นเมืองมีการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งจำนวนประชากรที่อพยพย้ายถิ่นและการก่อสร้างต่างๆ ทำให้พื้นที่สวนโดยมากถูกเปลี่ยนถ่ายกลายเป็นโครงการที่อยู่อาศัยเกือบหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรอบ ตนเองจึงให้ความสนใจในประเด็นนี้"
ผศ.ดร.ม.ล.วุฒิพงษ์ เปิดเผยว่า งานวิจัยได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลทั้งในระดับมหภาคจากการศึกษาตำราประวัติศาสตร์ แผนที่โบราณ แผนที่ภูมิประเทศ และภาพถ่ายทางอากาศ ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่สวนในบางกอกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อดูตำแหน่งที่ตั้งรวมถึงการเปลี่ยนแปลง แล้วนำข้อมูลดังกล่าว ไปจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) และวิเคราะห์ ทำให้เห็นอาณาเขตของการทำสวนในบางกอกในอดีตซึ่งมีลักษณะเป็นผืนต่อเนื่องตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพื้นที่สวนส่วนใหญ่อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และเห็นการคงอยู่หรือเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สวนซึ่งเกิดจากการนำที่ดินไปใช้งานในรูปแบบอื่นๆ ทั้งนี้ในการศึกษาระดับจุลภาคได้มีการลงพื้นที่จริงสำรวจและเก็บข้อมูล โดยอ้างอิงตามฐานข้อมูล GIS เพื่อเก็บข้อมูลทางกายภาพของพื้นที่และสัมภาษณ์ชาวสวนเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกควบคู่ไปด้วย
ผลจากงานวิจัยพบว่าภูมิทัศน์สวนในบางกอกซึ่งมีลักษณะเป็นสวนยกร่องที่ปลูกไม้ผลยืนต้นผสมผสานหลากหลายชนิดเหล่านี้มีคุณค่าในเชิงนิเวศ มีคุณสมบัติเป็นป่าในเมือง (Urban forest) ตามเกณฑ์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งพิจารณาจากสัดส่วนการปกคลุมของทรงพุ่มต้นไม้ใหญ่ รวมถึงสวนผลไม้ดังกล่าวมีความหลากหลายของพืชพรรณโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ยืนต้น โดยป่าในเมืองมีประโยชน์ 3 ด้านหลัก ได้แก่ คุณค่าด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ (Economic and Livelihood Values) เป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับคนเมืองได้บริโภคและใช้ประโยชน์ หรือหากมีการจัดการที่ดีจะส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ใกล้เคียง คุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ (Environmental and Ecological Values) เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยปกป้องดินจากการชะล้างและช่วยปรับภาวะรุนแรงของภูมิอากาศให้ลดลง เช่น ทำให้อุณหภูมิของอากาศเย็นลง ลดความเร็วลม และการชะล้างหน้าดิน และคุณค่าด้านสังคมและวัฒนธรรม (Social and Cultural Values) เอื้อต่อสุขภาพทางกายและใจของคนเมือง และช่วยลดความเครียด แต่จากการลงพื้นที่ศึกษาทำให้เห็นความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายของสวนผลไม้ โดยมีปัจจัยหลักจากการขยายตัวของเมือง ชาวสวนบางส่วนมีการขายที่ดินทำให้พื้นที่โดยรวมเกิดการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในเชิงพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และส่งผลต่อเนื่องจากการถมที่ปิดกั้นคลองส่งน้ำต่างๆ มีผลให้พื้นที่เกษตรไม่ได้รับน้ำและไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ สวนจำนวนมากจึงถูกทิ้งร้าง ส่วนเจ้าของสวนที่ยังดำเนินกิจกรรมอยู่จำเป็นต้องปรับวิธีการปลูกพืชและนำกิจกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุน นอกจากนี้ ยังพบว่าหลายพื้นที่มีการฟื้นฟูสวนซึ่งถูกทิ้งร้างขึ้นมาใหม่ แต่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างทุเรียนเป็นหลัก ทำให้มีความหลากหลายของพืชพรรณในสวนมีน้อยกว่าลักษณะการปลูกแบบผสมผสานอย่างในอดีต
"เราสนใจว่าทำอย่างไรที่จะอนุรักษ์สวนเหล่านี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวของคนเมืองได้มากและยาวนานที่สุด ในฐานะนักวิจัย สิ่งที่ทำได้คือหาหลักฐาน ข้อมูลที่สามารถวัดจริงได้ มากระตุ้นหรือสนับสนุนภาครัฐในการสร้างนโยบาย ให้การขยายตัวของเมืองยังคงมีพื้นที่ให้สวนเหล่านี้ได้แทรกตัว และใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น กลายเป็นพื้นที่สีเขียวผสมผสานระหว่างเมืองกับสวน โดยพิสูจน์ให้เห็นว่าสวนผลไม้ หรือ สวนในบางกอกเหล่านี้มีคุณค่าในเชิงนิเวศ สามารถเป็นปอดให้กับคนเมืองได้เช่นกัน" ผศ.ดร.ม.ล.วุฒิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
สวนผลไม้หรือพื้นที่เกษตร อาจเป็นเพียงที่ทำมาหากินของคนชนบทในสายตาใครหลายคน แต่ในทางกลับกันก็เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่รองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยเช่นกัน หากคนไทยทุกคนไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วม ปล่อยปละละเลย หรือจัดสรรการใช้ประโยชน์โดยขาดการวางแผน อนาคต สวนเหล่านี้อาจกลายเป็นเพียงความทรงจำที่เกิดจากการรุกไล่ของเมืองก็เป็นได้
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit