งานวิจัยเอคเซนเชอร์ชี้“วัฒนธรรมแห่งความเสมอภาค”เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร มองอนาคตปี 2028 การเปิดโอกาสให้พนง.สร้างนวัตกรรมจะช่วยเพิ่มจีดีพีโลกได้ 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

22 Mar 2019
งานวิจัยชิ้นใหม่ของเอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: ACN) ระบุว่า วัฒนธรรมแห่งความเสมอภาคในสถานที่ทำงาน เป็นปัจจัยเร่งอันทรงพลังที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมและสร้างการเติบโตให้แก่องค์กร
งานวิจัยเอคเซนเชอร์ชี้“วัฒนธรรมแห่งความเสมอภาค”เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร มองอนาคตปี 2028 การเปิดโอกาสให้พนง.สร้างนวัตกรรมจะช่วยเพิ่มจีดีพีโลกได้ 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

"ในยุคที่มีการดิสรัปชั่นในหลายวงการ ธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ จำต้องรับมือกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องให้ได้ ถึงจะประสบความสำเร็จ" นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว "งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การดึงพลังวัฒนธรรมของที่ทำงานออกมาใช้ให้ได้ จะเป็นหัวใจของการเปิดศักยภาพ ขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร"

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ชัดว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ทั่วโลกยอมรับถึงความสำคัญของการมีนวัตกรรมต่อเนื่อง โดยร้อยละ 95 มองว่านวัตกรรมมีความสำคัญต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันและความอยู่รอดของธุรกิจ และวัฒนธรรมแห่งความเสมอภาคจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนแนวคิดด้านนวัตกรรม (innovation mindset) ได้อย่างทรงพลัง เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่าปัจจัยอื่นใดที่ทำให้องค์กรต่างกันไป เช่นด้วยลักษณะอุตสาหกรรม ประเทศ หรือลักษณะของกำลังแรงงาน จากการสำรวจกับกลุ่มคนทุกเพศ เพศสภาพ อายุ และเชื้อชาติ พบว่าผู้ที่มีแนวคิดเชิงส่งเสริมนวัตกรรมจะมาจากที่ทำงานที่มีวัฒนธรรมเสมอภาคกันมากกว่า

งานวิจัยใหม่ของเอคเซนเชอร์ได้ข้อมูลจากการสำรวจผู้ที่อยู่ในสาขาอาชีพต่าง ๆ กว่า 18,000 คนใน 27 ประเทศ ซึ่งรวมถึง 1,400 คนในสหรัฐอเมริกา การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในระดับสูง (C-Suite) อีกกว่า 150 คนใน 8 ประเทศ รวมถึงใช้โมเดลที่รวมเอาผลสำรวจจากพนักงานกับข้อมูลด้านแรงงานที่เปิดเผยมาประมวล งานวิจัยชิ้นนี้ต่อยอดมาจากงานวิจัยในปี 2018 ของเอคเซนเชอร์ที่ระบุปัจจัยในที่ทำงาน 40 ประการที่เอื้อต่อการสร้างวัฒนธรรมแห่งความเสมอภาค และจัดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง ได้แก่ ภาวะผู้นำที่เด็ดเดี่ยว (Bold Leadership) ปฏิบัติการที่เบ็ดเสร็จ (Comprehensive Action) และสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาส (Empowering Environment)

งานวิจัยที่จัดทำปีนี้บ่งชี้ชัดว่า "สภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาส" เป็นปัจจัยสนับสนุนวัฒนธรรมความเสมอภาคที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาแนวคิดด้านนวัตกรรม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ 6 ด้าน คือ จุดมุ่งหมาย (purpose) ความเป็นอิสระ (autonomy) ทรัพยากร (resource) แรงบันดาลใจ (inspiration) การร่วมมือ (collaboration) และ การทดลอง (experimentation) หากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเปิดโอกาสให้แสดงความสามารถมาก ก็จะได้คะแนนแนวคิดเชิงนวัตกรรมมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น พนักงานสหรัฐฯ จากที่ทำงานที่มีวัฒนธรรมเสมอภาคกันอย่างเข้มข้น มีแนวโน้มจะยอมรับว่า ไม่มีสิ่งใดมาหยุดยั้งไม่ให้พวกเขาสร้างนวัตกรรม มากกว่าที่อื่นถึง 7 เท่า (ร้อยละ 44 ในกลุ่มที่มีวัฒนธรรมเสมอภาคกันมากที่สุด เปรียบเทียบกับ ร้อยละ 6 ในกลุ่มที่มีวัฒนธรรมเสมอภาคกันน้อยที่สุด)

ที่สำคัญคือ องค์กรจะต้องปิดช่องว่างสำคัญที่งานวิจัยนี้ค้นพบว่าเกิดขึ้นระหว่างผู้บริหารระดับสูง (C-Suite) และพนักงาน ขณะที่ร้อยละ 76 ของผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกกล่าวว่า ได้เปิดโอกาสให้พนักงานได้สร้างนวัตกรรมแล้ว แต่กลับมีพนักงานเพียงร้อยละ 42 ที่เห็นไปในทางเดียวกัน มีตัวอย่างเช่น ผู้บริหารทั้งหลายมักให้ค่ากับรางวัลที่เป็นตัวเงินมากเกินไป และนำมาใช้เป็นแรงจูงใจให้พนักงานสร้างนวัตกรรม ขณะที่กลับให้ค่ากับจุดมุ่งหมาย (purpose) น้อยเกินไป ในที่ทำงานที่มีวัฒนธรรมค่อนข้างเสมอภาคกัน พบว่าปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สุดต่อการสร้างแนวคิดเชิงนวัตกรรมนั้น จะต้องมีเรื่องการฝึกอบรมทักษะ เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น และการเคารพสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว เข้ามาด้วย

ความหลากหลายเป็นองค์ประกอบสำคัญ

เพียงแค่ปัจจัยด้านความหลากหลายอย่างเดียว (อาทิ ทีมผู้บริหารที่หลากหลาย และคนทำงานเพศต่าง ๆ ที่มีสัดส่วนสมดุล) ก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดด้านนวัตกรรมแล้ว หากเป็นวัฒนธรรมแห่งความเสมอภาค ก็ยิ่งเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะส่งผลทวีคูณช่วยให้บริษัทพัฒนานวัตกรรมได้เต็มที่ งานวิจัยนี้พบว่าแนวคิดด้านนวัตกรรมของพนักงานในสหรัฐฯ นั้น จะเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า ถ้ารวมปัจจัยด้านความหลากหลายและวัฒนธรรมแห่งความเสมอภาคเข้าด้วยกัน โดยเทียบกับบริษัทที่ไม่ค่อยมีปัจจัยสองด้านนี้

เดิมพันสูงด้านเศรษฐกิจ

งานวิจัยชิ้นใหม่ยังพบว่า แนวความคิดด้านนวัตกรรมในเศรษฐกิจที่โตเร็วหรือผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเร็ว จะแข็งแกร่งหรือเข้มข้นกว่าประเทศอื่น ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ดีอีกมหาศาล เอคเซนเชอร์คำนวณว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับมากกว่า 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน 10 ปีข้างหน้า ถ้าทุกประเทศมีแนวคิดด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10

"การเร่งให้เกิดความเสมอภาคในที่ทำงานเพื่อผลักดันนวัตกรรม เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดแล้วในตอนนี้" นนทวัฒน์ กล่าว "ถ้าคนเรามีความรู้สึกร่วม มีความเป็นเจ้าของ และได้รับการเอาใจใส่จากนายจ้างตามความทุ่มเทอุตสาหะ ทัศนคติ และเงื่อนไขแวดล้อมต่าง ๆ ก็จะมีโอกาสพัฒนา เดินหน้า และกล้าใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรมนั่นเอง"

ติดตามอ่านรายงานผลการสำรวจจากทั่วโลกได้ที่ accenture.com/gettingtoequal

วิธีการวิจัย

ข้อมูลส่วนหนึ่งของงานวิจัย "Getting to Equal 2019" ได้มาจากการสำรวจออนไลน์กับบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ กว่า 18,000 คนจาก 27 ประเทศ ซึ่งรวมถึง 1,400 คนในสหรัฐฯ ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 รวมถึงการสำรวจความคิดเห็นทางโทรศัพท์กับผู้บริหารระดับสูง (C-Suite) อีกกว่า 150 คนจาก 8 ประเทศ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2561

เกี่ยวกับเอคเซนเชอร์

เอคเซนเชอร์ เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ดิจิทัล การบริหารเทคโนโลยีและการปฏิบัติการชั้นนำของโลก และด้วยประสบการณ์ การทำงานอย่างลึกซึ้ง ผนวกกับศักยภาพที่สมบูรณ์แบบในกว่า 40 อุตสาหกรรมซึ่งครอบคลุมทุกสายงานของธุรกิจ พร้อมด้วยเครือข่ายการให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เอคเซนเชอร์สามารถร่วมมือกับลูกค้า เชื่อมต่อธุรกิจและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ยกระดับองค์กรของลูกค้าให้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพและสมรรถภาพสูง สามารถสร้างคุณค่าอันยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นได้ ปัจจุบันเอคเซนเชอร์ มีพนักงานประมาณ 469,000 คนในกว่า 120 ประเทศ เอคเซนเชอร์มุ่งพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้การใช้ชีวิตและการทำงานมีคุณภาพดีขึ้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.accenture.com