เช่นเดียวกับสนามเอสซีจี สเตเดี้ยม ที่แต่ละนัดของการแข่งขันจะมีแฟนบอลเข้ามาชมในสนามเฉลี่ยเกือบ 1 หมื่นคน ทำให้สร้างขยะแต่ละครั้งมากถึง 1,000 กิโลกรัม เอสซีจี จึงร่วมกับ สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ในการผลักดันสนามเอสซีจี สเตเดี้ยม สู่การเป็น Circular Economy Stadium ที่เชิญชวนแฟนบอลร่วมเป็น "แชมป์รักษ์โลก" ด้วยการแยกขยะตามแนวทาง SCG Circular Way โดยเริ่มต้นจากการจัดเตรียมถังขยะ 4 ประเภท ได้แก่ ขยะพลาสติก กระดาษ เศษอาหาร และขยะปนเปื้อน วางไว้ตามจุดต่างๆ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องการแยกขยะที่ถูกต้องแก่แฟนบอลก่อนจะทิ้งให้ถูกถัง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะ (Waste Management) ให้สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"Football's Coming Home คือแนวคิดการทำทีมของเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ในฤดูกาลนี้ โดยต้องการให้นักฟุตบอลและแฟนบอลของเอสซีจี เมืองทองฯ ร่วมทำสิ่งดีๆ เพื่อทีมที่รักของเรา แนวคิดเรื่องการทำ Circular Economy Stadium จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่า เอสซีจี เมืองทองฯ ไม่เพียงแต่มีศักยภาพที่สามารถเป็นแชมป์ในการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังสามารถเชิญชวนให้แฟนบอลทุกคนมาช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ สู่สังคมได้ จึงได้ร่วมกับเอสซีจี จัดแคมเปญ "แชมป์รักษ์โลก" ซึ่งเป็นการปรับใช้แนวปฏิบัติ SCG Circular way กับกิจกรรมการเชียร์ฟุตบอลของแฟนคลับเอสซีจี เมืองทองฯ และแฟนๆ ของทีมอื่นๆ ที่เข้ามาใช้บริการภายในเอสซีจี สเตเดี้ยม ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้แฟนบอลแยกขยะประเภทต่างๆ ที่นำเข้ามาในสนามฟุตบอลให้ถูกที่ถูกถัง เพื่อให้สามารถนำขยะเหล่านี้กลับไปหมุนเวียนใช้ให้เกิดคุณค่าได้ต่อไป โดยมีเป้าหมายว่าหางบัตรเข้าชมฟุตบอลและเศษกระดาษในสนามจะสามารถนำไปทำชั้นวางหนังสือและเฟอร์นิเจอร์ ฝาขวดน้ำพลาสติกสามารถนำไปทำบ้านปลารีไซเคิล ช่วยอนุบาลปลาและคืนสมดุลระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ส่วนขยะอื่นๆ ก็สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย Circular Economy Stadium ได้อย่างแท้จริง" นายรณฤทธิ์ ซื่อวาจา ผู้อำนวยการสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการร่วมรณรงค์ครั้งนี้
ด้านนางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี กล่าวเสริมว่า "ด้วย Passion ที่ต้องการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เอสซีจียังเริ่มผลักดันแนวคิดนี้ในกลุ่มพนักงาน ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการแยกขยะตามแนวปฏิบัติ SCG Circular way และได้ขยายแนวปฏิบัตินี้ไปสู่หน่วยงานและกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลของทีมเอสซีจี เมืองทองฯ ที่มีทุกสัปดาห์ตลอดปี เพราะเอสซีจีเชื่อว่าด้วยพลังของแฟนบอล นอกจากจะช่วยเป็นกำลังใจให้นักฟุตบอลคว้าแชมป์ได้แล้ว ยังสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการขยะ (Waste Management) ให้เกิดผลจริง และสามารถนำขยะเหล่านี้กลับไปหมุนเวียนใช้ให้เกิดคุณค่าต่อไป โดยเริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆ ด้วยการลดการนำขยะเข้ามาในสนาม และแยกขยะลงถังที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ในสนามหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ซึ่งเอสซีจีอยากให้เกิดพฤติกรรมนี้ไม่ใช่แค่ในสนามเอสซีจี สเตเดี้ยมเท่านั้น แต่ทุกคนยังสามารถนำแนวทางนี้กลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และขยายสู่คนใกล้ตัว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแคมเปญ "แชมป์รักษ์โลก" นี้ จะเป็นต้นแบบหนึ่งที่สามารถขยายไปสู่ทีมอื่นๆ รวมถึงกีฬาชนิดอื่นๆ ได้ต่อไป"
แม้ว่าผลการแข่งขันในฤดูกาลนี้ยังต้อรอลุ้นต่อไป แต่เชื่อว่า เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และแฟนบอล จะร่วมกัน "เป็น" และ "รักษา" "แชมป์รักษ์โลก" นี้ได้โดยไม่ต้องรอ และเอสซีจีก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเผยแพร่การปฏิบัติตามแนวทาง SCG Circular way นี้ต่อไป ด้วยเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม ตลอดจนวงการกีฬาของไทยและอาเซียนให้ก้าวสู่การเป็น "แชมป์รักโลก" ได้อย่างยั่งยืน