หากพูดถึงประเทศที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบันนี้ "อินเดีย" เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจ ด้วยการเป็นประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่ และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ที่พร้อมก้าวไปสู่การพัฒนาในทุกด้านอยู่เสมอ จนได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ที่ทั่วโลกจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในทางกลับกัน คนไทยจำนวนไม่น้อยกลับยังรู้ไม่ทันความเคลื่อนไหวอันก้าวกระโดดในทุกด้านของอินเดีย และติดอยู่กับความคิดแบบเดิมๆ และอาจถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องหันมาเรียนรู้อินเดียอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน เพื่อที่จะคว้าโอกาสครั้งสำคัญนี้ไว้ได้ก่อนใคร
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) ได้จัดอบรม "อินเดีย 360 องศา เพื่ออนาคตไทย" ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเป็นการให้ความรู้เรื่องอินเดียอย่างรอบด้านแก่ผู้ที่มีความสนใจแง่มุมต่างๆ ของอินเดีย โดยผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอินเดียในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ไทย – อินเดีย การเมืองการปกครอง สังคมพหุวัฒนธรรม และเศรษฐกิจอินเดีย ที่จะทำให้เรื่องอินเดียที่ดูเป็นเรื่องยาก กลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย และเปลี่ยนมุมมองให้คนไทยหันมาใส่ใจที่จะคว้าโอกาสมากมายจากอินเดีย
นายชลิต มานิตยกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินเดีย กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับนานาประเทศ อินเดียมีนโยบายที่เปิดประเทศ ด้วยวิธีการใช้อำนาจละมุน (Soft Power) แทรกซึมเข้าไปในประเทศต่างๆ เพื่อให้รู้จักอินเดียมากขึ้น อาทิ การเกิด "ลิตเติ้ลอินเดีย" หรือชุมชนอินเดีย จากการที่ประชากรอินเดียที่เพิ่มขึ้น และกระจายตัวอยู่ทุกมุมโลก ซึ่งในอนาคตอาจจะเพิ่มขึ้นในลักษณะคล้ายไชน่าทาวน์ที่จะส่งอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมไปทั่วโลก ในด้านภาษาฮินดีซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาราชการของอินเดีย และเริ่มทวีบทบาทความสำคัญเพิ่มขึ้นในทั่วโลก อินเดียก็ตอกย้ำการมีเอกลักษณ์ทางด้านภาษานี้ ด้วยการกำหนดให้มีวันภาษาฮินดีโลก (World Hindi Day) เพื่อเฉลิมฉลองและส่งเสริมให้คนทั่วโลกได้รู้จักภาษาฮินดีมากขึ้น อีกทั้งการเผยแพร่ศิลปะ วัฒนธรรมในแบบของอินเดีย ผ่านทาง "บอลลีวูด" ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน
นายชลิต กล่าวเพิ่มว่า โอกาสทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียในปัจจุบัน ไทยสามารถคว้าโอกาสจากนโยบายการการผลักดันอินเดียให้ไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (India Smart City) โดยการปฏิรูปการคมนาคมของรัฐบาลอินเดียปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง และขนส่งสินค้า โดยไทยมองเห็นโอกาสนี้ในบริเวณรัฐเจ็ดสาวน้อย ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย รัฐดังกล่าวมีปัจจัยส่งเสริมทางด้านภาษา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ ที่มีความคล้ายคลึงกับไทย อีกทั้งมีความนิยมสินค้าไทยเป็นทุนเดิม ตนจึงมองว่าไทยควรจับโอกาสตรงนี้ไว้
ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ มะลูลีม หัวหน้าโครงการอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความน่าสนใจด้านการเมืองการปกครองของอินเดียก็คือ การเป็นประเทศต้นแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย จากการที่อินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนประชากร 1.3 พันล้านคน แม้ว่าอินเดียจะเคยตกอยู่ในช่องว่างทางการปกครองหลังการเป็นอาณานิคมของอังกฤษเป็นเวลานาน แต่อินเดียก็ไม่เคยมีการรัฐประหารเกิดขึ้นเลยสักครั้งเดียว สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเคารพในกฎระเบียบทางสังคม และเสถียรภาพทางการเมือง ในแง่ความหลากหลายทางสังคมของอินเดียทั้งด้านภาษา ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และศาสนา ย่อมตามมาด้วยความเห็นต่างกันในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องการเมือง บ่อยครั้งที่เกิดการแสดงออกทางการเมืองของชาวอินเดียในรูปแบบขบวนการทางสังคม หรือการประท้วง ในทางกลับกัน เราแทบไม่ได้ยินข่าวการนองเลือดจากเหตุการณ์ทางการเมืองของอินเดียเลย เนื่องด้วยอินเดียยึดหลักการแสดงออกแบบอหิงสา ทำให้ความรุนแรงจากการประท้วงแทบไม่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งการแสดงออกทางการเมืองอย่างเสรีภายใต้เงื่อนไขการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
ศ ดร. จรัญ กล่าวเพิ่มว่า อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามองทางด้านการเมืองของอินเดียสำหรับประเทศไทยก็คือ การเลือกตั้งอินเดียที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2562 เช่นเดียวกับประเทศไทย สำหรับนายกรัฐมนตรีของอินเดียคนถัดไปที่ตนคาดเดาว่าจะได้สืบต่ออำนาจทางการเมืองคือ นายนเรนทรา โมดี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดีย ที่ยังคงได้รับความนิยมจากชาวอินเดียด้วยนโยบายอันโดดเด่นด้านการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างสุดโต่ง เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านชนชั้นในอินเดียที่เป็นปัญหาเรื้อรัง อีกทั้งการพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศ แน่นอนว่าประเทศที่มองเห็นโอกาสตรงนี้ก็จะพลอยได้รับผลประโยชน์ไปด้วย
ด้าน ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยว่า อินเดียมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อินเดียมีส่วนแบ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศระดับโลก (Share of World GDP) สูงถึงร้อยละ 7 – 7.5 และคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 จะโตถึงร้อยละ 15 ในด้านของการลงทุน อินเดียนับว่ามีพัฒนาการทางด้านความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และคาดว่าในอนาคตจะดีขึ้นอีกจากนโยบายการพัฒนาสาธารณูปโภค การลดกฎระเบียบทางการค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น
สำหรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่ไทยมีร่วมกับอินเดียนั้น มองว่าในปัจจุบันภาคธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในอินเดียยังมีจำนวนไม่มาก โดยตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากไทยมีเพียงร้อยละ 0.1 จากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าอินเดียทั้งหมด อย่างไรก็ดี ธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในอินเดียและสามารถตีตลาดอินเดียได้อย่างประสบความสำเร็จก็มีจำนวนไม่น้อย ส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติที่ดีของคนอินเดียต่อสินค้าไทย คนอินเดียมองสินค้าไทยมีคุณภาพพรีเมียม ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป อีกส่วนสำคัญมาจากการศึกษาความต้องการตลาดอินเดียอย่างลึกซึ้ง อาทิ การรู้จักพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กำลังซื้อส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยทำงาน หรือความต้องการสินค้าของอินเดียซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสินค้าเกษตร การแปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น รวมถึงการศึกษากฎระเบียบการลงทุน หากศึกษาปัจจัยเหล่านี้อย่างละเอียด เชื่อว่าภาคธุรกิจไทยจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินอันมหาศาลจากอินเดียได้ไม่น้อย ดร.กิริฎา กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ยังมีแง่มุม ข่าวสารต่างๆ ของอินเดีย รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งที่จะส่งผลต่ออนาคตทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของอินเดีย ที่น่าติดตามต่อไปในปี 2562 ปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเดียกำลังก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างลุ่มลึก (Great Deep Forward) ซึ่งหากตอนนี้ไทยยังไม่เรียนรู้ และรู้จักอินเดียมากพอ อาจทำให้ไทยพลาดโอกาสหลายด้านของอินเดียไปอย่างน่าเสียดาย
สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่สนใจรายละเอียดหลักสูตรและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยที่มุ่งผลิตบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญทั้งแง่มุมเศรษฐกิจ การเมือง ภาษาและวัฒนธรรม ในอาณาบริเวณศึกษาเฉพาะที่น่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือไทย ด้วยการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ และโอกาสที่จะได้ศึกษาแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาชื่อดังในต่างประเทศ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit