นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) กล่าวว่า เพื่อหาแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งด้านการตรวจสอบและรับรองสินค้าอาหารฮาลาลและผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและตลาดโลก ตลอดจนเพื่อให้ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐและหน่วยรับรองฮาลาล(สกอท.) นำข้อสรุปจากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการค้าสินค้าอาหารฮาลาลระหว่างประเทศ เร็วๆนี้มกอช.จึงได้มีการจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ"ผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยและข้อกำหนดในตลาดฮาลาลที่สำคัญ"ขึ้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ สัตวแพทย์ประจำโรงงาน ผู้ควบคุมการเชือดประจำโรงงาน(Halal Slaughtering Supervisor) ผู้แทนสถานประกอบการ ผู้แทนฝ่ายกิจการฮาลาลประจำจังหวัด(สกอจ.)ผู้แทนฝ่ายกิจการฮาลาลส่วนกลางรวมกว่า 200 คนเข้าร่วม
นางสาวจูอะดี กล่าวว่า ปัจุบัน ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลกและยังเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักสินค้าดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยเริ่มให้ความสนใจส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปประเทศคู่ค้าที่มีประชากรชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก รวมถึงประสมาชิกกลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน บาห์เรน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยเป็นกลุ่มประเทศที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ นอกจากนี้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union: EU) ก็ยังเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยที่มีจำนวนประชากรชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มกอช. ในฐานะหน่วยงานผู้ประสานหลักด้านมาตรการ SPS ของไทย เห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตร และอาหารซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และหน่วยรับรอง เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการดำเนินมาตรการสุขอนามัยพืชของไทยรวมถึงใช้ประกอบการเจรจาเปิดตลาดสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้า ตลอดจนเจรจาแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ
นางสาวจูอะดี กล่าวยด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศคู่ค้าของไทยได้มีการบังคับใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) ควบคุมการนำเข้า และจำหน่ายสินค้า ซึ่งการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในกรณีของประเทศมุสลิมได้มีการบังคับใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับรองฮาลาลในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวอย่างเคร่งครัดเพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าที่ได้รับการรับรองฮาลาลในประเทศดังกล่าวได้ โดยแต่ละประเทศมีข้อกำหนดด้านการรับรองฮาลาลที่แตกต่างกัน อาทิ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการยอมรับสินค้าที่ได้รับการรับรองฮาลาลจากหน่วยรับรองฮาลาลต่างประเทศ และข้อกำหนดด้านฮาลาลเกี่ยวกับโรงเชือดสัตว์
ปัจจุบันประชากรมุสลิมทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี2560โลกมีจำนวนประชากรมุสลิมถึง1.8พันล้านคน จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้รับความสนใจ และมีความต้องการมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศต่าง ๆ เช่นกัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวมุสลิมในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อาทิ อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก โดยในปี 2561 มีจำนวนประชากรประมาณ 227 ล้านคน ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union: EU) ซึ่งมีจำนวนประชากรมุสลิมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีจำนวนประชากรประมาณ 44 ล้านคน และกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) อันได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates: UAE) กาตาร์ และบาห์เรน ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าอาหารฮาลาลที่มีศักยภาพที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสินค้า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit