วธ.บูรณาการหน่วยงานภาครัฐรณรงค์ทุกภาคส่วนเน้นจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ทุกชีวาปลอดภัย” ร่วมสืบสานวิถีไทย ๔ ภูมิภาค เรียนรู้สงกรานต์เพื่อนบ้านอาเซียน พร้อมเชิญชวนประชาชนแต่งชุดไทยร่วมงาน

18 Mar 2019
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.)กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ๑๙ หน่วยงาน บูรณาการการดำเนินงานกำหนดแนวทางการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๒ "สงกรานต์วิถีไทย ใช้นำคุ้มค่า ทุกชีวาปลอดภัย" เพื่อส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ที่ทรงคุณค่า สะท้อนวิถีปฏิบัติอันงดงามของไทย ด้วยการทำบุญ ตักบาตร เข้าวัด ฟังเทศน์ การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ แสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ อุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ การเล่นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง โดยใช้น้ำอย่างคุ้มค่า และเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางและมาตรการในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี ๒๕๖๒ ที่จัดขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศ ร่วมถึงจังหวัดที่มีพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเมียนมาร์ เป็นต้น
วธ.บูรณาการหน่วยงานภาครัฐรณรงค์ทุกภาคส่วนเน้นจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ทุกชีวาปลอดภัย” ร่วมสืบสานวิถีไทย ๔ ภูมิภาค เรียนรู้สงกรานต์เพื่อนบ้านอาเซียน พร้อมเชิญชวนประชาชนแต่งชุดไทยร่วมงาน

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ กล่าวต่อว่า แนวทางและมาตรการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์จากการประชุมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร กรมประชาสัมพันธ์ กรมการขนส่งทางบก สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเมาไม่ขับ และสำนักงานเขตปทุมวัน ซึ่งได้ข้อสรุปแนวทางในการจัดกิจกรรมภาพรวมของประเทศ ๓ แนวทาง ๑๔ ด้าน ดังนี้

๑.การรณรงค์จัด "สงกรานต์แบบไทย" ได้แก่

๑.๑ ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและร่วมกันสืบสานประเพณีต่างๆ เน้นวิถีวัฒนธรรมชูเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น

๑.๒ ขอความร่วมมือจากประชาชนในการสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณี สงกรานต์แบบไทย เช่น ทำความสะอาดบ้านเรือน วัด สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เล่นน้ำอย่างพองาม

๑.๓ รณรงค์ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น หรือชุดไทยย้อนยุคเข้าร่วมงาน

๑.๔ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและประชาชน ในการจัดกิจกรรมโดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยจัดให้มีการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สายด่วนวัฒนธรรม ๑๗๖๕

๒.การรณรงค์ "ใช้น้ำคุ้มค่า" ได้แก่

๒.๑ ขอความร่วมมือสืบสานประเพณีอย่างมีวัฒนธรรม เพื่อใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าสูงสุด ขอความร่วมมืองดใช้รถบรรทุกตระเวนสาดน้ำในพื้นที่ต่างๆ กำหนดระยะเวลาการเล่นน้ำ ให้เลิกเล่นน้ำในเวลาที่กำหนด ห้ามใช้แป้งและสีต่างๆ มาเล่น

๒.๒ ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัยและประหยัดน้ำ เช่น ขันขนาดเล็ก ไม่ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง เล่นน้ำอย่างสุภาพ

๒.๓ ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและน้ำสะอาดเพื่อสุขอนามัย และสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงขาดแคลนน้ำ

๓.การรณรงค์ "ทุกชีวาปลอดภัย" ได้แก่

๓.๑ ขอความร่วมมือภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สถานบันเทิง ผู้จัดกิจกรรม กำหนดเวลาเปิด-ปิด จัดกิจกรรมและงดจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

๓.๒ ควบคุมและรณรงค์ผู้ใช้รถโดยใช้มาตรการเมาไม่ขับ ปลอดแอลกอฮอล์ และมีน้ำใจให้แก่กันในการใช้รถใช้ถนน และพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมให้แจ้งหน่วยงานหรือศูนย์รับแจ้งเหตุของหน่วยงานต่างๆ

๓.๓ มาตรการเข้ม ลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน ถนน และยานพาหนะ และมาตรการด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ความปลอดภัยทางน้ำ-ทางเรือ และหลังเกิดอุบัติเหตุ ควบคุมความเร็วการใช้รถให้ใช้รถใช้ถนนอย่างเคร่งครัด

๓.๔ กิจกรรมส่งคนกลับบ้าน อำนวยความสะดวกในการเดินทาง การตรวจความพร้อมของผู้ขับรถสาธารณะ ควบคุมและตรวจจับความเร็วของรถบริการสาธารณะด้วยระบบ GPS และเฝ้าระวังยานพาหนะต่างๆ ศูนย์บริการตรวจสภาพรถฟรี รวมถึงมีศูนย์รับแจ้งเหตุร้องเรียนการใช้รถใช้ถนนโดยกรมการขนส่งทางบก และจุดบริการพักรถระหว่างการเดินทางเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล

๓.๕ สถานที่ที่จัดงานต่างๆ ต้องมีมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน

๓.๖ การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เช่น พ.ร.บ.การจราจรทางบก

๓.๗ มีศูนย์แจ้งเตือนภัยสภาพอากาศตลอดช่วงเทศกาล

รมว.วธ. กล่าวอีกว่า กิจกรรมต่างๆ ของกระทรวงวัฒนธรรม กำหนดจัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ทุกชีวาปลอดภัย" ประกอบด้วย ๑)งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติและผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ๒)การจัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ในส่วนกลางพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ นิทรรศการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในเทศกาลสงกรานต์ ระหว่าง ๑๒-๑๖ เมษายน ๒๕๖๒ ณ ฮอลล์ ออฟ เฟม ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน และศูนย์การค้าไอคอนสยาม

งานประเพณีสงกรานต์งานวัดกลางกรุง สรงน้ำพระ ถวายเครื่องสักการะและจตุปัจจัยไทยธรรม ในวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๒ ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร งาน "สงกรานต์ เมษา ผ้าขาวม้าสนั่นโลก" ระหว่าง ๑๓-๑๕ เมษายน ๒๕๖๒ ณ บริเวณสยามสแควร์ โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญ นิทรรศการประเพณีสงกรานต์ไทยและ สงกรานต์อาเซียน การสาธิตชุดรำน้ำขอพร การแสดงทางวัฒนธรรมจาก ๔ ประเทศอาเซียน การแสดงโขนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ตลาดวัฒนธรรมและลานวัฒนธรรมอาเซียน ฯลฯ

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ คือ หนังสือประเพณีสงกรานต์ ๒ ภาษา ไทย-อังกฤษ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงวันปีใหม่ไทย สิ่งที่ควรและไม่ควรปฏิบัติในประเพณีสงกรานต์ และยังมีบัตรอวยพรส่งความสุข จำนวน ๓ แบบ เนื่องในเทศกาลอีกด้วย

กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ ตามสถานที่ต่างๆ ด้วยความสนุกสนานและใช้น้ำอย่างคุ้มค่า โดยตรวจสอบรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติมได้ทาง www.culture.go.th หรือ www.facebook.com/DCP.culture และสายด่วนวัฒนธรรม ๑๗๖๕

HTML::image( HTML::image( HTML::image(