ประชากรในเขตทุ่งครุมีประมาณ 120,000 คน และส่วนหนึ่งเป็นชุมชนของชาวมุสลิมอาศัยอยู่ราว 60,000 คน ต่อมาในปี 2554 ได้มีการรวมกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์บริการอิสลามเนียะมะตุลลอฮ์ จำกัด เพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือ พี่น้องชาวมุสลิม ซึ่งระบบสหกรณ์นั้นถูกกับหลักศาสนาอิสลามและถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันมีสมาชิก 600 คน และสมาชิกส่วนหนึ่งประมาณ 30 % ยังคงยึดอาชีพการเกษตรและยังเก็บรักษาที่ดิน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ และยังมีบางรายที่ไม่พัฒนาที่ดินต่อ ทำให้เกิดที่รกร้างว่างเปล่า มีบางส่วนรอขายที่ดินเพื่อทำหมู่บ้านจัดสรรเนื่องจากที่ดินมีราคาสูงขึ้น ทำให้วิถีชีวิตในแบบเกษตรกรรมได้ถูกกลืนหายไปอย่างน่าใจหาย
นายเปี่ยม อารีฮูเซ็น ประธานสหกรณ์บริการอิสลามเนียะมะตุลลอฮ์ จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ได้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาพื้นที่การเกษตรในเขตทุ่งครุให้ดำรงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงได้ทำโครงการแปลงเกษตรตัวอย่าง เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกนำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยได้แนะนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ ให้สมาชิกได้น้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ขณะเดียวกัน สหกรณ์ได้สร้างแปลงเกษตรตัวอย่างโดยได้ขอเช่าที่ดินของสมาชิกจำนวน 1 ไร่ มาปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นแปลงเกษตรผสมผสาน เพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้สมาชิกได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำกลับไปปรับใช้กับที่ดินของตนเอง
ภายในแปลงเกษตรตัวอย่าง ได้แบ่งพื้นที่ประมาณ 25 % เป็นบ่อปลา เลี้ยงปลาดุก ปลาช่อน ปลานิลและปลากด พื้นที่อีก 30% ปลูกผลไม้ มะม่วง ทุเรียน กล้วย ส่วนหนึ่งปลูกผักสวนครัว และมีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ โรงแปรรูปสินค้า ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 150,000 บาท และค่อยๆลงมือปลูกพืชผักขยายต่อยอดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดความสำเร็จให้เพิ่มขึ้น และตั้งแต่เริ่มลงมือทำแปลงเกษตรในเดือนตุลาคม 2561 จนถึงเดือนมกราคม 2562 สหกรณ์ได้จับปลาชุดแรกไปแล้ว 30% ของปลาที่ลงทุนไปทั้งหมด ได้กำไรจากการจับปลาล็อตแรก 20 – 30% ของเงินลงทุน และในเดือนเมษายนนี้ก็จะจับปลาที่เหลืออีก 70% พร้อมกับทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งกล้วย มะม่วงจำหน่ายภายในชุมชน ซึ่งจะมีรายได้กลับคืนมาเท่ากับเงินที่ลงทุนไป
การบริหารจัดการภายในแปลงเกษตรตัวอย่าง ใช้วัสดุที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ อาหารปลาได้จากเศษอาหารที่ยังไม่เน่าเสียมาผสมกับน้ำหญ้าหวานซึ่งมีโปรตีนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และมีแหนมาผสมด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อลดต้นทุน ซึ่งต้นทุนอาหารปลากิโลกรัมละ 5 บาท เมื่อเลี้ยงได้ 4 เดือน ปลาตัวโตได้ขนาด สหกรณ์จะจับส่งขายสะพานปลาและส่วนหนึ่งขายให้คนในชุมชน ซึ่งขายถูกกว่าราคาตลาดประมาณ 20 % เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ ให้แก่ชาวบ้าน ขณะนี้ได้ทดลองแปรรูปปลาแดดเดียวขาย และจำหน่ายได้ราคามากกว่าปลาสดประมาณ 150%
และในอนาคตสหกรณ์จะขยายการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงปลาให้กับสมาชิก โดยสหกรณ์จะร่วมลงทุนเพิ่มอีก 3 บ่อ และสหกรณ์จะนำปลาบึกมาอนุบาลก่อนจะขายให้สมาชิกไปเลี้ยงต่อเพื่อขยายพันธุ์ และจะพัฒนาให้บ่อปลาของสหกรณ์กลายเป็นแหล่งเลี้ยงปลาเศรษฐกิจในเขตทุ่งครุและจะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมปลาส่งตลาด ซึ่งสหกรณ์จะพัฒนาระบบน้ำเพื่อที่จะเพาะพันธุ์ปลาเอง และจะถ่ายทอดเทคโนโลยีวิธีการเลี้ยงปลาเพื่อให้เข้ากับระบบบ่อของของสมาชิกแต่ละราย
ในบ่อเลี้ยงปลาจะมีการนำน้ำหมักชีวภาพผสมลงไป และเมื่อเวลาผ่านไปจะมีการขุดลอกเลนใต้บ่อปลาขึ้นมาบนดิน ทำให้พื้นที่ในแปลงเกษตรได้รับธาตุอาหาร ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดี ที่ดินเลยถูกทิ้งร้าง จะสามารถทำประโยชน์ได้มูลค่าเกิน 10 ล้านบาท และในวันข้างหน้าสหกรณ์จะขยายแปลงเกษตรออกไปเรื่อย ๆ รวมถึงจะพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า ปกติขายกล้วยสดหวีละประมาณ 20-30 บาท แต่ถ้ามีการแปรรูปเป็นกล้วยตาก สามารถขายส่งได้ 80 บาท ซึ่งสหกรณ์วางแผนในอนาคตทำเป็นแหล่งแปรรูปกล้วยและเชื่อมโยงเครือข่ายกับสหกรณ์ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อส่งวัตถุดิบให้ และสหกรณ์จะพัฒนาแปลงเกษตรของสหกรณ์ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษของคนในเขตทุ่งครุและพื้นที่ใกล้เคียง ตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการปลา ต้องการอาหาร ต้องการผลผลิตทางการเกษตร สามารถมาซื้อจากสหกรณ์ได้ทุกวัน
ประธานสหกรณ์บริการอิสลามเนียะมะตุลลอฮ์ จำกัด ได้ฝากถึงเกษตรกรที่มีที่ดินทำการเกษตรว่า อยากให้ช่วยกันรักษาไว้ เพราะนับวันคนจะทำการเกษตรลดน้อยลง ซึ่งเชื่อว่าอาชีพเกษตรกรรมนั้นยังมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ ซึ่งจะต้องมีความตั้งใจจริง พัฒนาที่ดินไม่ให้รกร้างว่างเปล่า นำมาทำให้เกิดประโยชน์ โดยการ เลี้ยงปลา ปลูกผักปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ และเริ่มจากเป็นแหล่งอาหารให้กับครอบครัวเราก่อน และขยายสู่การ เป็นอาหารให้กับคนข้างเคียงหรือเป็นการแลกเปลี่ยนอาหารกัน วิถีเก่าๆ ที่มีการเอื้ออาทรต่อกันก็น่าจะกลับมา จากนั้นจึงค่อยต่อยอดไปถึงการรวมกลุ่มเหมือนเช่นที่สหกรณ์ทำอยู่ตอนนี้ และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ หากเราทำแปลงเกษตรได้เอง เราจะสามารถควบคุมกระบวนการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือเลี้ยงปลา ไม่ให้มีสารเคมีมาปนเปื้อนได้ เพราะว่าปลาหรืออาหารที่เราไปซื้อจากตลาดหรือฟาสฟู้ดส์ต่าง ๆ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าของที่เราซื้อมานั้น มีสารเคมีที่บริโภคเข้าไปแล้วจะเกิดโทษต่อร่างกายหรือไม่ แต่ถ้าเราปลูกเองเลี้ยงเองเพื่อนำมาบริโภค เราสามารถควบคุมทุกอย่างได้ นี่คือสิ่งที่สหกรณ์พยายามจะถ่ายทอดให้สมาชิกและชาวบ้านในชุมชนเขตทุ่งครุได้ตระหนักและเรียนรู้ และเห็นถึงความสำคัญของการนำที่ดินที่มีอยู่มาสร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน โดยทำการเกษตรแบบผสมผสานและยึดแนวทางทฤษฎีใหม่มาใช้ในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต ซึ่งจะทำให้ทุกคนอยู่รอดและมีความยั่งยืนในที่สุด
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit