จักษุแพทย์ รพ.ราชวิถี แนะตรวจสุขภาพตาห่างไกล “ต้อหิน” ภัยเงียบ! ที่น่ากลัวร้ายอาจถึงตาบอด

29 Mar 2019
จากสถานการณ์ผู้ป่วยโรคต้อหินและโรคตาบอดที่เกิดจากต้อหินในประเทศไทย มีผู้ป่วยแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ใหญ่มากที่สำคัญ คือ มากกว่า 80% ของผู้ป่วยที่เป็นต้อหินไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคต้อหิน และนอกจากนี้ ผู้ป่วย 9 ใน 10 ราย มักไม่มีอาการแสดง กว่าจะรู้ตัวและตรวจพบ เส้นประสาทตาก็ถูกทำลายไปมากแล้ว ส่วนมากพบในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ขึ้นไป มากกว่าผู้ชาย 3 เท่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน คือ 1.อายุที่มากกว่า 40 ปี 2.ความดันในลูกตาสูง 3.ประวัติครอบครัวที่เคยเป็นโรคต้อหิน 4.สายตาสั้นมากหรือยาวมาก 5.ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจและความดันโลหิตสูง 6.ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน 7.เคยได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตามาก่อน แนะนำให้ประชาชนตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
จักษุแพทย์ รพ.ราชวิถี แนะตรวจสุขภาพตาห่างไกล “ต้อหิน” ภัยเงียบ! ที่น่ากลัวร้ายอาจถึงตาบอด

"โรคต้อหิน" (Glaucoma) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของขั้วประสาทตาที่มีเส้นใยประสาทนับล้านเส้นเกิดความเสียหาย และความดันในลูกตาสูงผิดปกติ จนส่งผลทำลายเส้นใยประสาท ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งข้อมูลเกี่ยวกับการมองเห็นจากลูกตาไปยังสมองเพื่อทำการประมวลเป็นภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียลานตาและการมองเห็นได้

โรคต้อหินชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ต้อหินชนิดเรื้อรัง (Chronic glaucoma) หรือ ต้อหินปฐมภูมิ (Primary glaucoma) โดยจะสูญเสียการมองเห็นบริเวณรอบนอกของลานสายตา การมองเห็นจะแคบลงจนเสมือนมองผ่านท่อ เมื่อเกิดจุดบอดขึ้นในลานสายตาของผู้ป่วยและขยายตัวขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีขอบเขตในการมองเห็นแคบลง หากรักษาไม่ทันการณ์ ผู้ป่วยอาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

และต้อหินอีกชนิดที่พบได้น้อยกว่า คือ ต้อหินชนิดเฉียบพลัน (Acute angle closure glaucoma) ซึ่งจะทำให้ตามัวลง ตาแดง มีอาการปวดตาอย่างรุนแรง เนื่องจากความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

การรักษาโรคต้อหินนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากโรคนี้ทำให้ประสาทตาถูกทำลายอย่างถาวร การรักษาจึงทำได้เพียงประคับประคองเพื่อไม่ให้ประสาทถูกทำลายไปมากกว่าเดิม และคงการมองเห็นของผู้ป่วยในนานที่สุด โดยวิธีการรักษาโรคต้อหิน ปัจจุบันจะมีด้วยกัน 3 วิธี ดังนี้

1. การรักษาด้วยยา เพื่อลดความดันตาให้อยู่ในระดับที่ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้น โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และตรวจอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามผล และป้องกันผลข้างเคียงจากยา

2. การรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ โดยประเภทของเลเซอร์จะขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหินและระยะของโรคที่เป็นของผู้ป่วย

3. การรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดทำทางระบายสำหรับน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาใหม่เพื่อลดความดันในตา ใช้รักษาในกรณีที่การรักษาด้วย 2 วิธีแรกไม่สามารถควบคุมความดันของดวงตาได้

การดูแลตัวเอง : หลังจากทำการรักษาแล้วผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองด้วยการใช้ผ้าปิดตาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ด้วยการให้ญาติหรือผู้ดูแลเช็ดตาข้างที่ผ่าตัดอย่างน้อยวันละ1 ครั้ง ขณะอาบน้ำระวังไม่ให้น้ำเข้าตา ระมัดระวังไม่ให้ให้ฝุ่นละอองเข้าตา และห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด และมาตรวจติดตามผลการรักษาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และเมื่อสามารถเปิดผ้าปิดแผลได้แล้วควรดูแลตัวเองด้วยการ การสวมแว่นตากันแดดเมื่อออกกลางแจ้ง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้สีต่างๆ โดยเปลี่ยนชนิดของอาหารให้หลากหลายอยู่เสมอ (หรืออาจทานวิตามินบีรวมในรายที่ไม่สามารถทานผักผลไม้ได้) ป้องกันและควบคุมโรคประจำตัวให้ดี โดยเฉพาะโรคที่จะสร้างปัญหาให้กับตา เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง และหากมีความผิดปกติกับดวงตา ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที

โดยศูนย์จักษุแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถีได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาสุขภาพทางตาประมาณ 700 ราย/เดือน ซึ่งศูนย์จักษุแพทย์ รพ.ราชวิถี เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยาที่เก่าแก่ที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข เปิดดำเนินการมานานกว่า 35 ปี อบรมสร้างจักษุแพทย์ไปช่วยดูแลสุขภาพตาประชาชนทั่วประเทศ และยังเป็นศูนย์รักษาโรคตาที่ทันสมัย โดยมีอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญทางจักษุวิทยาครบทุกสาขา เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellent center) ทางจอประสาทตา และเป็นศูนย์รับส่งต่อสำหรับโรคตาที่มีความยากซับซ้อนจากทั่วประเทศ ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ทั้งนี้ทางศูนย์จักษุ โรงพยาบาลราชวิถี ยังมีเครื่องมืออุปกรณ์ค่อนข้างจำกัด และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการรักษา

ดังนั้นจึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับ อาคารศูนย์การแพทย์ ราชวิถี โดย สามารถร่วมบริจาคได้ที่ ชื่อบัญชี "เงินบริจาคของโรงพยาบาลราชวิถี" หมายเลขบัญชี 051-276128-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หรือ บริจาคเข้าบัญชี "ศูนย์การแพทย์ราชวิถี ในมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี" ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หมายเลขบัญชี 051-2-69056-1 หรือสอบถามโทร02–3547997-9 หรือ http://www.rajavithihospitalfoundation.org

HTML::image( HTML::image( HTML::image(