การอบรม “ประดิษฐ์หัวโขนจิ๋ว” สร้างสรรค์สืบสานศิลปะไทยในแบบร่วมสมัย

25 Mar 2019
เมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จัดการถ่ายทอดองค์ความรู้ การประดิษฐ์หัวโขนจิ๋ว ขึ้นตามโครงการการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์หัตถกรรมในเขตภาคเหนือตอนล่างเป็นสินค้าต้นแบบ โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นกระธานเปิดการอบรม มีวิทยากรคือ นายพิทักษ์พงษ์ จุมปา เจ้าของร้านอินธนู ผู้ผลิตและจำหน่ายหัวโขนแบบร่วมสมัย จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทีมงาน สอนและฝึกปฏิบัติกระบวนการ เทคนิคต่าง ๆ ในการประดิษฐ์หัวโขนจิ๋วเพื่อเป็นของที่ระลึกให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มโอทอป นักเรียน นิสิต นักศึกษา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนเรศวรและบุคคลทั่วไปในเขตภาคเหนือ จำนวน ๓๐ คน เริ่มตั้งแต่การบรรยายให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประเภทของหัวโขน จำแนกตามใบหน้า จำแนกตามสีหน้า สีกาย มงกุฎและอาวุธ จากนั้นลงมือปฏิบัติ ฝึกเขียนเส้น ผสมสี การใช้พู่กันลงบนกระดาษ ก่อนเขียนลวดลายสีสันลงบนงานจริงคือหัวโขนเรซิ่น เสร็จแล้วประดับตกแต่งหู จรหู ออกมาเป็นหัวโขนจิ๋วรูปแบบเสนายักษ์ ตามฝีมือ ทักษะของผู้เข้ารับการอบรมแต่ละคน สามารถนำไปสร้างอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมในแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ได้
การอบรม “ประดิษฐ์หัวโขนจิ๋ว” สร้างสรรค์สืบสานศิลปะไทยในแบบร่วมสมัย

สำหรับหัวโขนจิ๋วนี้ พัฒนามาจากหัวโขนจริงที่ใช้สวมเพื่อการแสดง หลังจากที่การแสดงโขนได้รับความนิยมในสังคมไทยและได้รับการยอมรับในวงการสากลมากขึ้น จึงเกิดการประยุกต์ พัฒนา จากโขนจริงให้เป็นหัวโขนขนาดเล็ก เพื่อเป็นของฝากของที่ระลึก ด้วยราคาที่ไม่สูงนัก และยังเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมในอีกรูปแบบหนึ่ง

การอบรม “ประดิษฐ์หัวโขนจิ๋ว” สร้างสรรค์สืบสานศิลปะไทยในแบบร่วมสมัย การอบรม “ประดิษฐ์หัวโขนจิ๋ว” สร้างสรรค์สืบสานศิลปะไทยในแบบร่วมสมัย การอบรม “ประดิษฐ์หัวโขนจิ๋ว” สร้างสรรค์สืบสานศิลปะไทยในแบบร่วมสมัย