กรมป่าไม้ชู“โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต้นแบบฟื้นฟูป่า

05 Apr 2019
กรมป่าไม้ ร่วมกับจิตอาสาของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพิ่มอัตราการรอดของต้นกล้า ณ เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี ชูโครงการ"ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" ต้นแบบฟื้นฟูป่าไม้ ประเดิมกิจกรรมแรกของปี 2562 เติมความชุ่มชื้นและเพิ่มธาตุอาหารให้ดินและต้นไม้
กรมป่าไม้ชู“โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต้นแบบฟื้นฟูป่า

นายชาตรี รักษาแผน ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันป่าไม้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยยังต้องได้รับการฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการรอดของต้นไม้ แม้ว่าภาครัฐจะมีการดำเนินการอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟูป่าไม้ แต่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงต้องอาศัยความร่วมมือของภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ ช่วยให้ป่าคืนสู่สภาพสมบูรณ์เร็วขึ้น ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้เป็น 40 % ของพื้นที่ประเทศ

"โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" เป็นโครงการฟื้นฟูป่าที่ร่วมมือในลักษณะ 3 ประสาน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ถือเป็นต้นแบบในการพัฒนางานด้านป่าไม้ และเป็นต้นแบบการฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่อื่นๆของประเทศ ซึ่งเป็นผืนป่าเพียงแห่งเดียวที่มีการนำรูปแบบการปลูกป่าแบบพิถีพิถัน คือ นำระบบน้ำหยดมาใช้กับแปลงปลูกป่าขนาดใหญ่ ทำให้อัตราการรอดของต้นไม้สูงกว่า 80 % และในปีนี้ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 4 ของโครงการฯ เริ่มเห็นความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ พันธุ์ไม้หลากหลายชนิดและลูกไม้ที่เป็นอาหารของสัตว์ป่า

นายอภิชาติ แก้วกิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง กล่าวว่า กรมป่าไม้ และ ซีพีเอฟ กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการทำกิจกรรมในปีนี้ที่แปลงปลูกป่าเชิงนิเวศ 50 ไร่ เพื่อบำรุงรักษากล้าไม้ในแปลงดังกล่าวที่ปลูกเลียนแบบธรรมชาติ ไม่มีระบบน้ำหยด โดยกิจกรรมแรกของปีนี้ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ชุมชน และจิตอาสาซีพีเอฟจำนวน 150 คน จะร่วมกันเติมปุ๋ยให้ป่า เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารจำเป็นต่อการเติบโตของพืช ทั้งกล้าที่ปลูกใหม่และลูกไม้เดิมตามธรรมชาติ เป็นการช่วยกักเก็บและดูดซับน้ำ ด้วยการขุดหลุมเพื่อใส่ปุ๋ยและรดน้ำหรือปุ๋ย EM เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดิน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของอัตรารอดตายของกล้าไม้ในแปลง

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมซ่อมแนวกันไฟทางตรวจการ เป็นการป้องกันไม่ให้ไฟป่าลุกลามเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด ลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่าโดยกำจัดเชื้อเพลิงจำพวกใบไม้ กิ่งไม้แห้ง หญ้า และไม้พื้นล่างเล็กๆออก และกิจกรรมลอกคลองไส้กรอก เป็นการขุดตะกอนดินที่ทับถมจากฤดูฝนที่ผ่านมา รวมถึงการเก็บเศษกิ่งไม้บริเวณคันดิน และปรับระดับร่องน้ำตามแนวความลาดชัน เพี่อกระจายน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับต้นไม้ ปรับแนวคันดินเพื่อเตรียมแนวสำหรับปลูกหญ้าแฝก กำแพงธรรมชาติที่มีชีวิตเพื่อลดความลาดชันของพื้นที่และลดอัตราการไหล่บ่าของน้ำบนผิวดิน

ซีพีเอฟดำเนินโครงการ "ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง"เพื่อร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ของประเทศ โดยมีเป้าหมาย ปี 2559-2563 ฟื้นฟูป่าที่เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี 5,971 ไร่ เป็นป่าผืนแรกของประเทศไทยที่มีการนำนวัตกรรมการปลูกป่า 4 รูปแบบมาใช้ ช่วยให้การฟื้นฟูป่าเร็วขึ้นกว่าการปล่อยให้ป่าฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ คือ 1.ปลูกป่าแบบพิถีพิถัน (จัดทำระบบให้น้ำแบบหยดทั่วทั้งแปลง) 2. ปลูกป่าเชิงนิเวศ เป็นการปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ ไม่มีระบบน้ำหยด 3.ปลูกป่าแบบเสริมป่า พื้นที่มีแม่ไม้และลูกไม้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ไม่กระจายทั่วพื้นที่ จึงต้องปลูกต้นไม้เสริมและกำจัดเถาวัลย์ที่ปกคลุมเรือนยอด เปิดให้แสงส่องถึงลูกไม้ที่อยู่พื้นดิน และ4. การส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ

กรมป่าไม้ชู“โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต้นแบบฟื้นฟูป่า กรมป่าไม้ชู“โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต้นแบบฟื้นฟูป่า กรมป่าไม้ชู“โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต้นแบบฟื้นฟูป่า