โครงการ “SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์” สานต่อเจตนารมณ์ รณรงค์ยับยั้งนักดื่มเยาวชนไทยก่อนวัย ผ่านกิจกรรมละครการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์

03 Apr 2019
ด้วยความตระหนักถึงปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนวัยอันควรในสังคมไทย สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย สถาบัน Collingwood learning (องค์กรกระบวนการเรียนรู้สำหรับเยาวชน สหราชอาณาจักร) และมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) จึงร่วมกันสานต่อโครงการละครประเด็นศึกษา "SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์" เป็นปีที่ 2 จัดกิจกรรมละครเพื่อการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ (Theatre-in-Education) มุ่งยับยั้งวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ สอดคล้องกับนโยบายการเรียนรู้แบบ 'Active Learning' ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นพัฒนาทักษะกระบวนการคิด การเรียนรู้จากสถานการณ์จำลอง เรียนรู้จากปัญหา ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปีพ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดแสดงละครประเด็นศึกษาไปแล้วจำนวน 75 รอบ เดินสายไปยัง 35 โรงเรียน ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี นครราชสีมา ลพบุรี และอ่างทอง โดยมีนักเรียนได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 4,999 คน
โครงการ “SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์” สานต่อเจตนารมณ์ รณรงค์ยับยั้งนักดื่มเยาวชนไทยก่อนวัย ผ่านกิจกรรมละครการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์

โครงการ 'SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์' เกิดขึ้นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เมื่อปีพ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดยั้งวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ตามกฎหมายผ่านการใช้ศิลปะการแสดงละครเวทีร่วมกับการอมรมเชิงปฏิบัติการและการใช้สื่อการเรียนการสอนที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน พร้อมทั้งยังมีการวิธีการประเมินผลอย่างชัดเจน ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัล "แนวทางการปฏิบัติที่ดี" (Good Practice Award) จากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ปัจจุบันโครงการได้ขยายผลไปยังประเทศต่างๆ เข้าถึงโรงเรียนกว่า 2,700 แห่ง และมีนักเรียนกว่า 540,000 คนเข้าร่วม ใน 22 ประเทศทั่วโลก[1]

สำหรับประเทศไทย โครงการละครประเด็นศึกษาโดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องที่สนุก เข้าใจง่าย ภายใต้บริบทที่เหมาะสมกับสังคมไทย เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูนักแสดง และนักเรียน โดยถ่ายทอดผ่านตัวละครหลัก 3 ตัวคือกาก้า เจมส์ และบอย ซึ่งทั้งสามคนเป็นเยาวชน เพื่อนรักนักดื่ม ที่ไม่ตระหนักถึงผลเสียของการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ทั้งสามต้องพบเจอกับบทสรุปที่แตกต่างกันออกไป เนื่องมาจากผลของการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนวัย หลังจากจบการแสดง มีการเปิดโอกาสให้นักเรียนวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ กระตุ้นให้แสดงความคิดเห็นว่าหากเป็นนักเรียนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับตัวละคร นักเรียนจะปฏิบัติตนแตกต่างไปอย่างไร โดยให้นักเรียนช่วยกันเลือกฉากสำคัญ และพลิกบทให้ตัวละครคิดและตัดสินใจต่างจากเดิม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้นักเรียนตระหนักและเข้าใจขั้นตอนการ ตัดสินใจ รวมไปถึงสาเหตุและผลลัพธ์จากการดื่มสุรา ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียนได้นั่นเอง

นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) กล่าวว่า "โครงการ SMASHED เป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของมูลนิธิฯ ในการดำเนินการตามกลยุทธ์ขององค์การอนามัยโลกในการลดปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตราย โดยมูลนิธิฯ ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมให้ความรู้และรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ กับกลุ่มเป้าหมายและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง โดยเน้น 3 เรื่องหลักๆ คือต่อต้านการดื่มแล้วขับ ยับยั้งนักดื่มก่อนวัย และให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มอย่างรับผิดชอบ"

ทั้งนี้การสำรวจขององค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศไทยมีนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนเพิ่มมากขึ้น การป้องกันปัญหานักดื่มก่อนวัยจึงต้องปลูกฝังเยาวชนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยจากการวัดผลของโครงการ นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 72% เรียนรู้ว่าหากมีปัญหาจากการดื่มสุรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือคนรอบข้าง สามารถขอความช่วยเหลือได้จากที่ไหน (เพิ่มขึ้นจากก่อนรับการฝึกอบรม 26%) ส่วนนักเรียน 74% มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับผลของการดื่มสุราก่อนวัยอันควร (เพิ่มขึ้นจากเดิม 53%) สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่านักเรียนมีความรู้และความเข้าใจรอบด้านมากขึ้นว่าทำไมจึงควรปฏิเสธการดื่มก่อนวัย แทนการห้ามแต่เพียงอย่างเดียว อันจะช่วยให้สามารถยับยั้งปัญหานักดื่มก่อนวัยในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นางอุษา จริตธรรม รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดอัยยิการาม กล่าวว่า "โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือที่ดีที่ส่งเสริมการศึกษาไทยให้สอดคล้องกับนโยบาย Active Learning ของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเน้นพัฒนาทักษะกระบวนคิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน ทำให้เด็กๆ สนุกจากการเรียนรู้ จดจำได้ และนำความรู้ที่ได้มาเป็นทักษะชีวิต ใช้ในการต่อรองกับแรงกดดันจากเพื่อนหรือคนรอบข้าง เพื่อเลือกปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม เชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างความแตกต่างที่ดีขึ้นให้แก่นักเรียน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมต่อไปในระยะยาว"

"สำหรับปีต่อๆ ไปเราตั้งเป้าว่าจะเดินสาย นำโครงการนี้ไปมอบให้โรงเรียนต่างๆ มากขึ้น เพราะการดื่มสุราในทางที่เป็นอันตรายนั้นเป็นปัญหาในหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทย หากได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาและภาครัฐ เราเชื่อว่าโครงการ SMASHED วัยใสไกลแอลกอฮอล์ จะเป็นประโยชน์และสามารถสร้างแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ให้กับนักเรียน อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ในสังคม" นายปริญ กล่าวสรุป

เกี่ยวกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

สถานทูตอังกฤษ กรุงเทพฯ เป็นตัวแทนของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในประเทศไทย ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เราเผยแพร่นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลอังกฤษ การเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง การค้าการลงทุน เรายังให้การบริการการยื่นคำร้องขอวีซ่าเพื่อเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรเพื่อการท่องเที่ยว การศึกษา การอยู่อาศัย หรือการทำงาน ทางสถานทูตอังกฤษ กรุงเทพฯ และเครือข่ายกงสุลทั่วประเทศมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือดูแลชาวอังกฤษ ทั้งที่เดินทางมาท่องเที่ยวและพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย เกี่ยวกับคอลลิงวูด เลิร์นนิ่ง

คอลลิงวูด เลิร์นนิ่ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 ณ สหราชอาณาจักร จุดมุ่งหมายคือการใช้ละครเวทีเป็นสื่อการสอน โดยได้ตระเวนแสดงและจัดเวิร์คช็อปในโรงเรียนมากกว่า 400 แห่งต่อปีในสหราชอาณาจักร หัวข้อในการแสดงมีหลากหลาย ตั้งแต่แอลกอฮอล์ ยาเสพติด การกลั่นแกล้งหรือข่มเหงรังแก ความปลอดภัยบนท้องถนน การรีไซเคิล ไปจนถึงปัญหาคนไร้บ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ซึ่งโครงการหลักของเราคือ Smashed Project ที่ประสบความสำเร็จและขยายออกไปหลายประเทศทั่วโลก หลังจากเกิดขึ้นในเดือนเม.ย. พ.ศ. 2558สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ https://www.collingwoodlearning.comเกี่ยวกับมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ)

มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (Thai Foundation for Responsible Drinking: TFRD) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้วัฒนธรรมการดื่มอย่างรับผิดชอบเกิดขึ้นในสังคมไทย โดยรณรงค์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างพอประมาณและมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ควบคู่ไปกับการใช้กฎหมายของภาครัฐ เพื่อลดปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างยั่งยืน