ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย หลัง Purchasing Manager Index (PMI) หรือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้นของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค.62 ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ มิ.ย. 60 อยู่ที่ 52.5 จุด และ PMI ของยูโรโซน หดตัวและต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี ที่ระดับ 47.7 จุด ขณะที่ PMI ของญี่ปุ่นบ่งชี้สภาวะเศรษฐกิจหดตัว ต่ำที่สุดในรอบสามปีที่ระดับ 48.9 จุด
ผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าภายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือสูงกว่าระดับปัจจุบันประมาณ 70% ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากซาอุดิอาระเบีย
Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มี.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 442.3 ล้านบาร์เรลสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent สัปดาห์ก่อนปรับตัวลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากข่าวการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่กรุงปักกิ่งคืบหน้า โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ นาย Steven Mnuchin เผยว่าภารกิจการเจรจาการค้ากับจีนครั้งนี้สำเร็จลุล่วง และการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้รองนายกรัฐมนตรีจีน นาย Liu He และคณะจะเดินทางไปยังกรุงวอชิงตันเพื่อหารือกับคณะเจรจาการค้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้มีข่าวทางการสหรัฐฯ ได้เพิ่มแรงกดดันต่อการซื้อขายน้ำมันอิหร่าน และเวเนซุเอลา อาทิ ตัวแทนจากกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ (Under-Secretary of the Treasury of Terrorism and financial Intelligence) นาง Sigal Mandelker ซึ่งเดินทางมายังสิงคโปร์, มาเลเซีย และประเทศในภูมิภาคเอเชีย เน้นย้ำว่าการค้าและการขนส่งน้ำมันเป็นหนึ่งในยุทธวิธีที่อิหร่านใช้เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย John Bolton กล่าวว่านาย Donald Trump กำลังพิจารณาขยายขอบเขตมาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลาออกไปทั่วโลก (Secondary Sanction) อย่างไรก็ดี Reuters ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์รวม 32 ราย ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent ในปี พ.ศ. 2562 จะอยู่ที่ระดับ 67.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล สูงกว่าผลสำรวจเมื่อเดือน ก.พ. 62 ที่ 66.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.5-70.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 59.0-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.0-70.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากข่าว Reuters รายงานโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ของบริษัท Hengli Refining and Chemical (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในมณฑล Liaoning สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีตามมาตรฐานเชิงพาณิชย์ได้แล้ว หลังเริ่มเดินเครื่องตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 61 และคาดว่าจะเริ่มขายผลิตภัณฑ์ได้ ภายในครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2562 และ โรงกลั่น Port Arthur (กำลังการกลั่น 335,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Valero Energy Corp. ในสหรัฐฯ กลับมาดำเนินการหน่วย Crude Distillation Unit (CDU: กำลังการกลั่น 75,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 23 มี.ค. 62 หลังปิดซ่อมฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 62 อย่างไรก็ตาม Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของอินเดีย แข็งแกร่งช่วงใกล้วันเลือกตั้งส่งผลให้ปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน ก.พ. 62 ลดลงจากปีก่อน 7.8 % มาอยู่ที่ 8.33 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ บริษัท KNOC ของเกาหลีใต้รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน ก.พ. 62 ลดลงจากปีก่อน 1.7 % อยู่ที่ 6.94 ล้านบาร์เรล โดยความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน ในเดือน ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4 % มาอยู่ที่ 6.25 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 238.6 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.08 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 15.63 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.0-79.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากข่าวอุปทานน้ำมันดีเซลในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังกระทรวงพาณิชย์จีน (Ministry of Commerce) อนุมัติให้บริษัท CNPC ปรับเปลี่ยนโควตาการส่งออกน้ำมันเบนซินปริมาณ 5.95 ล้านบาร์เรล เป็นน้ำมันดีเซล ปริมาณ 2.98 ล้านบาร์เรล อีกทั้งตลาดน้ำมันดีเซลในแถบยุโรปและ เมดิเตอร์เรเนียนซบเซา อาทิ กรมสรรพากรสหราชอาณาจักร (Her Majesty's Revenue and Customs หรือ HMRC) รายงานยอดขายปลีกน้ำมันดีเซล ในเดือน ก.พ. 62 ลดลงจากปีก่อน 8.4 % อยู่ที่ระดับ 523,000 บาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 มี.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 530,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.40 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม บริษัท KNOC ของเกาหลีใต้รายงานความต้องการใช้น้ำมันดีเซล ในเดือน ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7% อยู่ที่ 12.7 ล้านบาร์เรล และ หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ก.พ. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 17.8% อยู่ที่ 404,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 130.2 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.0-83.0.เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit