ไตใหม่ ชีวิตใหม่ โดย นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

02 Apr 2019
คนเราเกิดมามีไต 2 ข้าง หน้าที่สำคัญของไต คือ ขับของเสียต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายออกทางปัสสาวะ ทำให้เลือดและอวัยวะทุกส่วนในร่างกายคนเราสะอาด ของเสียที่ไตต้องขับออกส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย อีกส่วนหนึ่งมาจากอาหาร ถ้าคนเราไม่มีไตหรือไตหยุดทำงาน ของเสียเหล่านี้จะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือดและอวัยวะในร่างกาย ทำให้เลือดและอวัยวะในร่างกายสกปรก ในที่สุดอวัยวะต่างๆ จะหยุดทำงาน ผู้ป่วยจะเสียชีวิต ในวงการแพทย์เรามีวิธีการรักษาผู้ป่วยไตวาย ให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ วิธีรักษาโรคไตวายเรื้อรังมี 3 วิธี ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา และการผ่าตัดเปลี่ยนไต ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนไตเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด
ไตใหม่ ชีวิตใหม่ โดย นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

นพ. วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า สำหรับสาเหตุของโรคไตในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสัมพันธ์กับความอ้วน ไขมันสูง กินอาหารเค็ม และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้สามารถป้องกันและรักษาไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นโรคไตวายได้ ที่สำคัญคือในระยะแรกที่ไตเริ่มเสื่อมจะไม่มีอาการให้เห็น ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเกิดอาการก็ต่อเมื่อไตเสื่อมไปแล้วกว่า 80% ซึ่งเมื่อถึงระยะนี้แล้ว การรักษาที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัดเปลี่ยนไต เพราะจะสามารถทดแทนไตเดิมได้เหมือนปกติ

การผ่าตัดเปลี่ยนไตทำได้ 2 วิธี คือ 1.การผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตสมองตาย ซึ่งขณะที่ผู้เสียชีวิตยังมีชีวิตอยู่ได้เคยยื่นแสดงความจำนงต้องการบริจาคอวัยวะให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยไว้ หรือในกรณีที่ผู้เสียชีวิตไม่เคยยื่นแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะมาก่อน แต่ครอบครัวต้องการบริจาคอวัยวะ ก็สามารถยื่นแสดงความจำนงต่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย แทนผู้เสียชีวิตได้ 2.การผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ได้แก่จากญาติพี่น้องร่วมสายโลหิต หรือจากคู่สมรส กรณีที่เป็นผู้บริจาคไตที่เป็นญาติพี่น้อง กฎหมายของประเทศไทยกำหนดว่าต้องมีการพิสูจน์ความสัมพันธ์กันทางสายเลือดก่อน ส่วนคู่สมรสที่จะบริจาคไตให้กันได้ ต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายมาอย่างน้อย 3 ปี หรือต้องมีบุตรด้วยกันที่สามารถตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ของคู่สมรสได้

นพ.วิรุฬห์ ได้แนะนำแนวทางการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคไตวาย คือเน้นเรื่องการควบคุมและป้องกันที่สาเหตุ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง อ้วน และการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิต เช่น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารที่มีไขมันสูง ลดอาหารจำพวกแป้ง ลดอาหารเค็มจัด ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น เลือกรับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว ทานเนื้อปลา เป็นต้น รวมถึงการควบคุมน้ำหนัก ที่สำคัญ ควรงดสูบบุหรี่และงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ นอกจากนี้ควรตรวจเช็คร่างกาย ตรวจเบาหวาน ความดัน รวมถึงไขมันในเลือด ดังนั้น การเอาใจใส่ระวังรักษาสุขภาพ การป้องกันและการตรวจสุขภาพแต่เนิ่นๆ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้อย่างดี

โรงพยาบาลพระรามเก้าได้รับประกาศนียบัตรรับรองความเป็นเลิศทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนไต ตามมาตรฐานสากลระดับโลกจาก JCI (Joint Commission International, USA.) ซึ่งการจะได้รับการรับรองนี้ต้องมีหลายองค์ประกอบรวมกัน ได้แก่ ความพร้อมของทีมแพทย์และผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์โรคไต แพทย์ผ่าตัดเส้นเลือด แพทย์ผ่าตัดทางเดินปัสสาวะ วิสัญญีแพทย์ แพทย์ทางด้านควบคุมการติดเชื้อหลังการเปลี่ยนไต จิตแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการตรวจเนื้อเยื่อ แพทย์เอกซเรย์ด้านการเปลี่ยนไต พยาบาลผู้ประสานงานการเปลี่ยนไต พยาบาลที่ชำนาญการดูแลผู้ป่วยโรคไต นักโภชนาการ เภสัชกรด้านยากดภูมิต้านทาน นักกายภาพบำบัด รวมถึงเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจระดับยาเปลี่ยนไตได้ 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ป่วยว่าจะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่เมื่อเข้ารับการเปลี่ยนไต

"เมื่อก่อนอ้วนมาก ชอบดื่มน้ำอัดลม กินอาหารที่มีไขมันสูง ไม่ออกกำลังกาย ประกอบกับเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง"…..คุณวรรัณกรณ์ นิธิกิระธนันท์ (คุณวิน) อายุ 48 ปี ผู้ป่วยโรคไตที่เคยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนไตที่โรงพยาบาลพระรามเก้า "ในครอบครัวมีคุณแม่เป็นเบาหวานและความดันสูง ส่วนผมเริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่ปี 2000 น้ำหนักตัวก็มากขนาดกว่า 110 กิโลกรัม ช่วงนั้นทำงานร้านอาหารที่ต่างประเทศ ก็จะได้รับประทานแต่อาหารที่มีไขมันสูง ดื่มน้ำอัดลมเป็นจำนวนมาก ทีหลังเริ่มสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ คือปัสสาวะบ่อย ผมร่วง หิวน้ำตลอดเวลา ปรึกษาคุณแม่ ให้ไปพบแพทย์ จึงพบว่าผมเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง จึงตัดสินใจกลับมารักษาที่เมืองไทย จุดเปลี่ยนของชีวิตคือ ตรวจพบว่าเป็นโรคไตวายด้วย มีอาการปัสสาวะเป็นฟอง แพทย์ตรวจพบว่าเป็นไตวายระยะที่ 3 แล้ว จึงรักษาโดยการประคับประคอง จนที่สุดถึงจุดที่ต้องเริ่มฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จึงตัดสินใจลงทะเบียนรอคิวผ่าตัดเปลี่ยนไตที่ รพ.พระรามเก้า ระหว่างนั้นต้องฟอกเลือดรอ ซึ่งทรมานมากในช่วงนั้น แค่พูดคุยปกติก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว ท้อแท้มาก แต่ทีมแพทย์ รพ.พระรามเก้า คอยให้กำลังใจ ช่วยเหลือผมเป็นอย่างดี ผมรอได้ประมาณ 7 เดือน จึงได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต หลังการผ่าตัด ไตใหม่ทำงานได้ทันที ถือเป็นโชคดีมากสำหรับผม เหมือนได้ชีวิตใหม่ ทุกวันนี้จึงต้องคอยดูแลตัวเองตลอด หันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่ง และอยากลอง challenge ตัวเองด้วยการลงวิ่งมาราธอน จากระยะ 5 กม. จนตอนนี้ลงวิ่งที่ระยะ 10 กม. พร้อมกับดูแลเรื่องการรับประทานอาหารให้ถูกต้องควบคู่ไปด้วย ปัจจุบันนี้รู้สึกแข็งแรงดี ร่างกายดูดีขึ้น น้ำหนักตัวเริ่มดีขึ้น อยู่ที่ 90 กก.จากเดิม 110 กว่า กก."

"เป็นคนชอบออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อทำงานหนัก ทำให้เวลาในการดูแลตัวเองลดลงไป ประกอบกับธุรกิจประสบปัญหาในช่วงนั้น สู้ฝ่าฟันมาได้ แต่ก็กลับกลายว่าเกิดโรคประจำตัว คือโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ แม้จะรักษามานานแต่ก็ไม่หาย และเป็นโรคไตในที่สุด"...คุณทอง สัตยธรรม (คุณทอง) อายุ 82 ปี ผู้ป่วยโรคไตที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตที่ รพ.พระรามเก้า "ผมทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกต่างประเทศ ในช่วงที่ธุรกิจประสบปัญหา สุขภาพก็เริ่มมีปัญหา เกิดอาการตาลายขณะนั่งทำงาน พอไปพบคุณหมอ ก็ได้ยามากิน คิดว่ากินยาแล้วก็น่าจะเพียงพอ ไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง จนกระทั่งธุรกิจดีขึ้น แต่อาการป่วยยังคงอยู่ ซึ่งก่อนหน้าที่จะเป็นโรคไต ก็มีโรคประจำตัวทั้งเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ กินยาเยอะและยังตัองฉีดอินซูลินถึงวันละ 3 ครั้ง ภายหลังไตทำงานไม่ได้แล้ว หมอให้เริ่มฟอกเลือด จนกระทั่งมีคนรู้จักแนะนำให้มาพบคุณหมอที่ รพ.พระรามเก้า จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต คุณหมอตรวจสุขภาพแล้วเห็นว่าแข็งแรงดี จึงแนะนำให้ลงทะเบียนรอรับไตบริจาค และได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตในที่สุด รวมเวลารอรับไตประมาณ 4 เดือน สำหรับผมถึงแม้ว่าอายุจะมากแล้ว แต่ก็ไม่กลัวการผ่าตัดเปลี่ยนไต ผมอยากสู้ อยากกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถึงแม้จะมีไตใหม่ข้างเดียว ผมแข็งแรงขึ้น สุขภาพดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเอง ขึ้นอยู่

กับการควบคุมอาหาร แม้คุณจะมีไตปกติ แต่ถ้ายังปล่อยปละละเลย ไม่ให้ความสำคัญทั้งเรื่องอาหาร เรื่องการดูแลตัวเองให้ดี ก็มีโอกาสทำให้ไตเสื่อมสภาพได้ ยิ่งเรารู้ว่าหลังเปลี่ยนไต ต้องทานยากดภูมิคุ้มกัน มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนง่าย เรายิ่งต้องระวังให้มาก นี่คือจุดสำคัญ ทุกวันนี้ผมดูแลตัวเองให้แข็งแรงและควบคุมอาหารโดยการลดการกินอาหารรสเค็ม รสหวานลง และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ตามใจปากจนเกินไป ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลังการเปลี่ยนไต ถึงแม้ผมจะอายุมากแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็เหมือนได้ชีวิตใหม่ มีความสุขอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

ทางโรงพยาบาลพระรามเก้าเป็นตัวแทนแชร์ประสบการณ์ของผู้ป่วย 2 ท่านนี้ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไป บริจาคไต โดยการบริจาคไต 1 ข้าง ให้กับญาติพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกันที่กำลังป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง หรือการแสดงความจำนงบริจาคไตเมื่อเสียชีวิตแล้วให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เพื่อต่อชีวิตผู้ป่วยโรคไต หรือในกรณีที่ผู้เสียชีวิตไม่เคยยื่นความจำนงมาก่อน ครอบครัวผู้เสียชีวิตสามารถ ยื่นความจำนงแทน ให้กับสภากาชาดไทยได้

ไตใหม่ ชีวิตใหม่ โดย นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า ไตใหม่ ชีวิตใหม่ โดย นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า