ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการ 17 ธันวาคม 2561 ถึง 31 มีนาคม 2562 ตรวจรวม 1,873 ตัวอย่าง พบผู้บาดเจ็บมีแอลกอฮอล์ในเลือดกว่า ร้อยละ 62 ของผู้บาดเจ็บที่ส่งตรวจทั้งหมด และเกินกว่ากฏหมายกำหนดร้อยละ 58 (กฏหมายกำหนดแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ในกลุ่มนี้ มีแอลกอฮอล์สูงตั้งแต่ 100มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ขึ้นไปมากถึงร้อยละ 90 และมีแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไปร้อยละ 41 และจากข้อมูลพบว่า ในผู้ขับขี่ที่ตรวจพบจะมีระดับแอลกอฮอล์เกินกว่ากฏหมายกำหนดถึงร้อยละ 94
พล.ต.ท. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เนื่องจากสถิติส่วนใหญ่ในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลสงกรานต์ ระบุว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 30 ดังนั้น ในปี 2562 นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงกวดขันและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามมาตรการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข จะเข้มงวดในการตรวจวัดค่าปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทุกกรณีเมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพื่อลดปัญหาเมาแล้วขับ
"วันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ย 70-80 ราย สาเหตุหลักมาจากการเฉลิมฉลองและดื่มสุรา จึงอยากฝากให้ทุกท่านที่ใช้รถใช้ถนนควรตระหนักในเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ ขณะขับขี่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะมีโอกาสสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ควรใช้เข็มขัดนิรภัยและหมวกนิรภัยทุกครั้ง" พล.ต.ท. ดำรงศักดิ์ กล่าว
พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ปีนี้จะเพิ่มมาตรการเข้มข้น มีการตั้งจุดตรวจและหน่วยเคลื่อนที่เร็วมากขึ้น เพื่อให้มาตรการลดอุบัติเหตุเป็นไปอย่างสัมฤทธิ์ผล โดยกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก สนับสนุนค่าตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดทั้งช่วงเทศกาลและช่วงปกติ ตั้งแต่ปลายปี 2561 ถึงปลายปี 2562 ด้วยงบประมาณกว่า 69 ล้านบาท กรณีที่เจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วว่าผู้ขับขี่น่าจะมีอาการมึนเมา จะขอตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด แต่หากไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจ จะถูกตั้งข้อหาเมาแล้วขับได้ นอกจากนี้ กรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วมีการเสียชีวิต ตำรวจจะขอตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดทั้ง 2 ฝ่าย โดยจะตรวจเลือดภายใน24 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ เพื่อพิสูจน์ทราบว่าเกิดจากความประมาทของฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากแอลกอฮอล์ ความเร็ว เมาแล้วขับ ง่วงแล้วขับ ฯลฯ ซึ่งจะมีผลต่อการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องศาลต่อไป
ทั้งนี้ หากมีค่าแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และขับรถชนผู้อื่นบาดเจ็บ มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท หากชนผู้อื่นสาหัส จำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท แต่ถ้าชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 ปี ปรับ 60,000-200,000 บาท ส่วนกรณีที่ผู้ขับขี่อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือใช้ใบขับขี่ชั่วคราว หากตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย
พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กล่าวย้ำว่า อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลหรือไม่ก็ตาม อย่าขับรถเร็ว และถ้าดื่มแล้วอย่าขับรถ เพราะช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปริมาณรถสูงมาก ควรสวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่ ศึกษาเส้นทางก่อนการเดินทาง ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียลงได้
นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้มงวดกวดขันในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ยังมีพลังเครือข่ายองค์กรและภาคประชาชน อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จับมือกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ร่วมเป็นกำลังในการสอดส่องดูแลให้ถนนปลอดภัยไร้อุบัติเหตุด้วย โดยเปิดพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ร่วมแก้ 30 จุดเสี่ยง สร้างถนนปลอดภัย และตั้งเป้าให้ครบ 77 จังหวัดในปีนี้
อุบัติเหตุลดลงได้ หากทุกคนร่วมกันตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น ด้วยการขับรถอย่างมีน้ำใจ รักษาวินัยกฎจราจร และที่สำคัญคือ เมาไม่ขับ ไม่ขับรถเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัย หากขับขี่จักรยานยนต์สวมใส่หมวกนิรภัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit