เปิดตัว “โรงพยาบาลแก่งคอย” หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกจากการบริจาคของประชาชน

10 Apr 2019
ประชาชนกว่า 100 คน ร่วมงานเปิดตัวระบบการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ที่โรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งแรกจากการระดมทุนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund) อันเป็นความร่วมมือของ 15 เครือข่ายที่ทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืน และเป็นธรรม กองทุนแสงอาทิตย์มีเป้าหมายที่จะระดมทุนจากประชาชนทั่วประเทศเพื่อติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่งภายในปี พ.ศ.2562 นี้
เปิดตัว “โรงพยาบาลแก่งคอย” หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกจากการบริจาคของประชาชน

พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี ในฐานะประธานกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า "ณ วันนี้กองทุนแสงอาทิตย์ มียอดเงินบริจาครวมทั้งสิ้น 1,837,151.72 บาท ทำให้สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลแก่งคอยได้เป็นแห่งแรก การติดตั้งครั้งนี้ใช้พื้นที่ประมาณ 240 ตารางเมตรของหลังคาอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน มีกำลังผลิตติดตั้ง 33.75 กิโลวัตต์ จะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลแก่งคอยได้ราวปีละ 217,000 บาทโดยมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 4 ปีเท่านั้น ทั้งนี้ ระบบจะยังคงใช้งานได้ต่อไปและรวมเป็นเงินค่าไฟฟ้าที่จะประหยัดได้ราว 5,425,000 บาท ตลอดระยะเวลา 25 ปี"

นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอยจังหวัดสระบุรี ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ครั้งนี้ว่า "ปัจจุบันโรงพยาบาลแก่งคอยมีภาระค่าไฟฟ้าราวเดือนละ 4 แสนบาท หรือมากกว่า 4 ล้านบาทต่อปี การติดตั้งโซลาร์เซลล์ของกองทุนแสงอาทิตย์ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้ถึงปีละ 2 แสนกว่าบาท ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้บุคลากรของโรงพยาบาล ประชาชนผู้มาใช้บริการ และชุมชนชาวอำเภอแก่งคอยได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของพลังงานแสงอาทิตย์และการประหยัดพลังงาน

ผมขอขอบพระคุณประชาชนที่ร่วมบริจาคเงินผ่านกองทุนแสงอาทิตย์และขอบคุณบริษัทเดชาวุฒิฯ ที่ประมูลและดำเนินการติดตั้งโซลาเซลล์ภายใต้งบประมาณที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการหวังผลกำไรทางธุรกิจ จากนี้โรงพยาบาลจะเดินหน้าหางบประมาณเพื่อดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มเติมให้ได้ถึง 100 กิโลวัตต์เป็นอย่างน้อย และจะดำเนินการประหยัดพลังงานและการบริหารจัดการการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อว่าเราจะมีเงินจากการลดค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปเพิ่มการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้นอีก"

นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวปิดท้าย " การปฏิวัติพลังงานบนหลังคาของโรงพยาบาลกำลังจะนำไปสู่การร่วมกันลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและการลดมลพิษทางอากาศจากภาคการผลิตไฟฟ้า รัฐบาลที่เล็งเห็นอนาคตใหม่ของพลังงานจำเป็นต้องผลักดันนโยบายรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ Net metering ที่จะทำให้เกิดการหักลบอัตโนมัติของหน่วยไฟฟ้าจากการใช้และที่ผลิตได้"

หมายเหตุ

  • เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย
  • คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการ คุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช)
  • สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ)
  • เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค (มพบ)
  • สมาคมประชาสังคมชุมพร
  • มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต
  • บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด
  • Solarder
  • โรงเรียนศรีแสงธรรม
  • มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด)
  • เครือข่ายสลัม 4 ภาค
  • มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
  • เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green
  • มูลนิธิสุขภาพไทย
  • กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://thailandsolarfund.org