นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน 2562 ว่า "การประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดล่าสุด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทุกภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร เป็นสำคัญ"
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศทางการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 71.3 โดยใน 6 เดือนข้างหน้า จะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคเกษตรและภาคบริการ เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตที่สำคัญของจังหวัด ประกอบกับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กิจการด้านการบริการขยายตัวสูงขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีมาอยู่ที่ 68.1 จากแนวโน้มภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่ดี เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก และมีฝนตกตามฤดูกาล ประกอบกับเป็นผลจากตลาดต่างประเทศยังคงมีความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจากการคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศจะดีขึ้นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้สถานประกอบการขยายตัว และคาดว่ามีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีมาอยู่ที่ 67.7 เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยภาคอุตสาหกรรมคาดว่าขยายตัวมากขึ้น จากการลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น สำหรับในภาคบริการ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในทุกช่วงฤดูกาล และการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคใต้ขยายตัวจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 66.3 โดยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการลงทุนและภาคเกษตรเป็นหลัก ในส่วนของภาคการลงทุน คาดว่าจะขยายตัวตามนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐเป็นสำคัญ และแนวโน้มการย้ายฐานการลงทุนภาคอุตสาหกรรมมายังไทย ในส่วนของภาคเกษตร คาดว่าปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากนโยบายรัฐที่ช่วยเหลือสนับสนุนยางพาราอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพารา สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก มีแนวโน้มการเติบโตอยู่ที่ 64.9 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการบริการและภาคเกษตรเป็นหลัก โดยคาดว่าภาคบริการจะขยายตัวเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่วนภาคเกษตรคาดว่าจะเป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการดำเนินนโยบาย ด้านการเกษตรต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่องช่วยให้ด้านการเกษตรดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง มีแนวโน้มการเติบโตอยู่ที่ 63.3 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคกาบริการและภาคการจ้างงานเป็นหลัก ในส่วนของธุรกิจภาคการบริการ มีสัญญาณขยายตัวดี เนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการ e-payment คาดว่าจะมีเม็ดเงินกระจ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ในส่วนของภาคการจ้างงาน คาดว่าจะขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 58.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
[1] หมายเหตุ
ก. ขอขอบคุณอธิบดีกรมบัญชีกลางและสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ให้ความร่วมมือในการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI)
ข. การอ่านค่าดัชนี RSI (ช่วง 0-100)
ดัชนี > 50 หมายถึง แนวโน้มความเชื่อมั่นคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้าต่อภาวการณ์ด้านนั้น ๆ อยู่ในระดับ "ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน"
ดัชนี < 50 หมายถึง แนวโน้มความเชื่อมั่นคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้าต่อภาวการณ์ด้านนั้น ๆ อยู่ในระดับ "ชะลอกว่าปัจจุบัน"
ดัชนี = 50 หมายถึง แนวโน้มความเชื่อมั่นตาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้าต่อภาวการณ์ด้านนั้น ๆ อยู่ในระดับ "ทรงตัว"
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit