นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่า "การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2562 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.0 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้ามีสัญญาณชะลอตัว สำหรับเศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ภาคการเกษตรสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวชะลอตัว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับมั่นคง" โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ในภาพรวม สะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวที่ร้อยละ -3.8 และปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอตัวที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี พร้อมกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงปรับตัวลงอยู่ที่ระดับ 64.8 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (y-o-y) แต่พบว่าหลายเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m) ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว ร้อยละ 5.2 ต่อปี ตามการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนชะลอตัวที่ร้อยละ -6.9 ต่อปี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศชะลอตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวที่ร้อยละ -15.0 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ภาคการค้าระหว่างประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงิน สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกไปประเทศจีนชะลอตัวที่ร้อยละ -7.2 ต่อปี และการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนชะลอตัวที่ร้อยละ -10.2 ต่อปี อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออก ไปยังสหรัฐอเมริกาขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2562 กลับมาเกินดุลที่มูลค่า 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานพบว่า ภาคการเกษตรสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวชะลอตัว โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี จากหมวดพืชผลสำคัญขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี และหมวดปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -4.0 ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2562 มีจำนวน 2.73 ล้านคน ชะลอตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นสำคัญ ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่ารวม 134,560 ล้านบาท ชะลอตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ ที่ขยายตัวได้ดี เช่น มาเลเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น เป็นต้น เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงาน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 42.0 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 210.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
"การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2562 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.0 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้ามีสัญญาณชะลอตัว สำหรับเศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ภาคการเกษตรสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวชะลอตัว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับมั่นคง"
1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ในภาพรวม สะท้อนได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ต่อเดือน ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าชะลอตัวร้อยละ -7.1 ต่อเดือน เนื่องจากการเร่งซื้อรถยนต์ในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวที่ร้อยละ -3.8 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าชะลอตัวร้อยละ -6.5 ต่อเดือน เป็นการชะลอตัวทั้งในเขต กทม. และเขตภูมิภาคที่ร้อยละ -0.8 และร้อยละ -4.7 ต่อปี ตามลำดับ และปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอตัวที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี พร้อมกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงปรับตัวลงอยู่ที่ระดับ 64.8 ปรับตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง ภาวะของเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า และสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกอันเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ
2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (y-o-y) แต่พบว่าหลายเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m) ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อเดือน ตามการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัว 8.9 ต่อปี ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนชะลอตัวที่ร้อยละ -6.9 ต่อปี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศชะลอตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อเดือน ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวที่ร้อยละ -15.0 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวร้อยละ 4.5 จากเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากการหดตัวในหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ร้อยละ -12.8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวของดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ตามราคาไม้นำเข้า และดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จที่ขยายตัวตามความต้องการคอนกรีตผสมเสร็จ
3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนพฤษภาคม 2562 เบิกจ่ายได้จำนวน 171.8 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 161.3 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 128.4 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 33.0 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 10.4 พันล้านบาท
4. ภาคการค้าระหว่างประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกไปประเทศจีนชะลอตัวที่ร้อยละ -7.2 ต่อปี และการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนชะลอตัวที่ร้อยละ -10.2 ต่อปี อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีได้แก่ สินค้าในหมวดอาหาร เครื่องสำอางฯ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี โดยสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ เชื้อเพลิง ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2562 กลับมาเกินดุลที่มูลค่า 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานพบว่า ภาคการเกษตรสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวชะลอตัว โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี จากหมวดพืชผลสำคัญขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี และหมวดปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ ไก่ สุกร และไข่ไก่ สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -4.0 ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า การปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีปัจจัยมาจากการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐซึ่งเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง และการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอันเนื่องมาจากการเข้าสู่ฤดูร้อน สำหรับภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 2.73 ล้านคน ชะลอตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นสำคัญ ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่ารวม 134,560 ล้านบาท ชะลอตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ ที่ขยายตัวได้ดี เช่น มาเลเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤษภาคม 2562 มีมูลค่า 134,560 ล้านบาท
6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด นอกจากนี้ค่าโดยสารขนส่งสาธารณะปรับตัวสูงขึ้นแม้ว่าราคาเชื้อเพลิงจะปรับตัวลดลงตามสภาวะราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลก ดังนั้นเมื่อหักสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงานออกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงาน คิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 42.0 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 210.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit