รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนพฤษภาคม 2562

27 Jun 2019
"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวได้ในภาคตะวันออก กรุงเทพและปริมณฑล และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว จากเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของการลงทุนและภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"
รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนพฤษภาคม 2562

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพร้อมด้วย นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน ปี 2562 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวได้ในภาคตะวันออก กรุงเทพและปริมณฑล และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว จากเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของการลงทุนและภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.6 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี แต่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวลงร้อยละ -5.1 ต่อปีส่วนการลงทุนภาคเอกชน ยังขยายตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 7.0 และ 8.7 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากการลดลงของรายได้ของผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศ แต่รายได้ของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 19 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 111.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว จากการบริโภคภาค และการลงทุนภาคเอกชนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อปี นอกจากนี้มีเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ 4,885 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรสาครและปทุมธานี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในชะลอลง สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี จากการลดลงของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจขยายตัว จากการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวขยายตัว แต่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 9.3 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดอ่างทอง ชัยนาท และลพบุรี เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ 2,125 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 808.9 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตภาชนะบรรจุ อาหารและเครื่องดื่มจากโลหะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว จากการปรับตัวลดลงจากยอดรถยนต์และรถจักยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวที่ร้อยละ -9.2 และ -3.5 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 2.7 ต่อปี จากการขยายตัวทั้งคนไทยและต่างประเทศที่ร้อยละ 5.7 และ 4.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว จากการการขยายตัวภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนพฤษภาคม 2562 ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี จากการขยายตัวทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ร้อยละ 5.0 และ 4.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวร้อยละ -1.4 และ -9.7 ต่อปี ตามลำดับ จากการลดลงในเกือบทุกจังหวัด อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรทรงตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 และ 1.5 ต่อปี ตามลำดับ แต่เงินลงทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิบการและเงินลงทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวลง ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวการบริโภคภาคเอกชน แต่การลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นต้น แต่รถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ หดตัวลงเล็กน้อยที่ -1.7 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวลงที่ร้อยละ -28.8 และ -56.2 ต่อปี ตามลำดับ แต่ยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร และนครศรีธรรมราช เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวลดลงจากรายได้ผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทยยังคงขยายตัว ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ยังขยายตัวเล็กน้อย สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 และ 1.7 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดราชบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ -3.8 และ -3.1 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวลงร้อยละ -49.2 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศที่ร้อยละ 4.4 และ 4.0 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว จากการกลับมาขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังปัญหาหมอกควันในภาคเหนือคลี่คลายลง โดยรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี จากเดือนเดือนก่อนที่หดตัวลงร้อยละ -2.3 ตามการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ร้อยละ 4.8 และ 2.4 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งจดและรถจักรยานยนต์ทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ -3.9 และ -3.6 ต่อปี ตามลำดับ แต่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรปรับตัวลดลงเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวร้อยละ -12.0 และ -64.0 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

HTML::image( HTML::image( HTML::image(