ดีไอทีพี รุกกระตุ้น “เอสเอ็มอีไทย” ชูความสำเร็จโครงการ “ผู้ส่งออกอัจฉริยะ” ปั้นรายย่อยกว่า 800 กิจการ หนุนตัวเลขส่งออกไทยครึ่งปีหลัง

28 Jun 2019
- ผู้ส่งออกไทย มีจำนวนผู้ส่งออกประมาณ 30,000 ราย โดยเป็น SMEs ประมาณร้อยละ 70 สร้างมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมด
ดีไอทีพี รุกกระตุ้น “เอสเอ็มอีไทย” ชูความสำเร็จโครงการ “ผู้ส่งออกอัจฉริยะ” ปั้นรายย่อยกว่า 800 กิจการ หนุนตัวเลขส่งออกไทยครึ่งปีหลัง
  • NEA มีหลักสูตร และการอบรมสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการส่งออกกว่า 100 กิจกรรม เช่น หลักสูตรความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจส่งออก โครงการนักส่งออกรุ่นใหม่ โครงการต้นกล้าทูโกล โครงการ 60+ ค้าออนไลน์ขายทั่วโลก ฯลฯ อันสะท้อนแนวคิด "Grow local to global"
  • ครึ่งปีหลัง 2562 DITP จะเน้นการเจาะตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม และกระจายสินค้าให้ตรงตามที่ตลาดแต่ละประเทศต้องการ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น จากการสำรวจพบว่าญี่ปุ่นจะเป็นตลาดที่กลับมามีความคึกคักอีกครั้ง รวมทั้งเน้นการขายออนไลน์

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กระทรวงพาณิชย์ เผยความสำเร็จโครงการผู้ส่งออกอัจฉริยะ หรือ Smart Exporter เพื่อสร้างผู้ประกอบการ SMEs สามารถส่งออกได้ให้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น มีผู้ผ่านการอบรมมาแล้ว 803 ราย โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 53 ราย นอกจากนี้ ดีไอทีพี ยังได้เผยข้อมูลการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 ของประเทศไทยรวมมูลค่า 101,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,204,470 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเนื่องมาจากภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกยังอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงและปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง เช่น สงครามการค้าและภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นและกดดันการค้า การลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยถือว่ายังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และขยายตัวได้ดีในหลายตลาดทั้งตลาดสำคัญเดิม อาทิ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย และตลาดดาวรุ่งใหม่ อาทิ แคนาดา และรัสเซีย นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่า 101,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,204,470 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุจากปัจจัยร่วมสำคัญ อาทิ ข้อพิพาททางการค้า และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว รวมถึงปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ/ภูมิภาค เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และขยายตัวได้ดีในหลายตลาดทั้งตลาดสำคัญเดิม อาทิ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย และตลาดดาวรุ่งใหม่ เช่น แคนาดา และรัสเซียและ CIS สำหรับรายสินค้าการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และกระจายตัวในหลายตลาด ทั้งตลาดจีน อาเซียน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และฮ่องกง โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่ม

"จุดแข็งที่สำคัญต่อการส่งออกไทย คือ มีการกระจายตัวของตลาดส่งออกในระดับดีกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค โดยปี 2561 การส่งออกไทยมีค่าดัชนีการกระจุกตัวของตลาดส่งออก (Concentration of Importing Countries) อยู่ที่ 0.05 เป็นระดับที่ต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งแสดงถึงความหลากหลายของตลาดส่งออกไทยที่ไม่ได้พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป และมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยที่ไม่คาดคิดได้ดี ขณะที่ ลาว บรูไน เมียนมา และ เวียดนาม มีลักษณะตลาดส่งออก ที่ค่อนข้างกระจุกตัว ในการนี้ไทยจึงควรใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์ขยายโอกาสการส่งออกในตลาดศักยภาพ" นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยุทธศาสตร์ในการส่งออกครึ่งปีหลังจากนี้ กรมฯจะเน้นการเจาะตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม และกระจายสินค้าให้ตรงตามที่ตลาดแต่ละประเทศต้องการ เช่น การส่งออกไปยังประเทศอินเดียจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์และอาหาร ประเทศญี่ปุ่น จากการสำรวจพบว่าเป็นตลาดที่กำลังจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะ จ.โยโกฮาม่า ที่ขณะนี้กำลังนิยมเรื่องการทำสปา จ.คุมาโมโตะ นิยมสินค้าประเภทของชำร่วย กิ๊ฟช็อป ดังนั้นกรมฯจะเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆให้ตรงตามความต้องการของตลาดและกำหนดตัวสินค้าที่ชัดเจน

นอกจากนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 62 หรือประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป กรมฯจะดำเนินการโครงการแมทชิ่ง (Matching) ตลาดที่สามารถรองรับสินค้าการเกษตรที่จะมีผลผลิตออกมา ซึ่งมั่นใจว่าจะมีตลาดที่เพียงพอ รวมทั้งจะมีการ บูรณาการการทำการค้าออนไลน์ โดยแนวทางดังกล่าวจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้โตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือร้อยละ 3อย่างไรก็ตามกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเชื่อมั่นว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้ตามเป้าหมาย ส่วนกรณีค่าเงินบาทที่แข็งตัวนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีมาตรการเตรียมรองรับไว้แล้วและคาดว่าเมื่อการประชุม G 20 เสร็จสิ้นสถานการณ์สงคราการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจะคลี่คลายลงซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทต่อไป

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้มีแผนผลักดันการส่งออกช่วงครึ่งหลังปี 2562 โดยใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ ไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย และ CLMV และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น รัสเซีย และแคนาดา นอกจากนี้ ยังให้ความสาคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออก อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานระดับสากล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างผู้ส่งออกไทย มีจำนวนผู้ส่งออกประมาณ 30,000 ราย โดยประกอบด้วย SMEs ประมาณร้อยละ 70 สร้างมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยยั่งยืน ลดพึ่งพาการส่งออกจากบริษัทใหญ่ และสร้างเสถียรภาพทางการส่งออกให้มีทิศทางที่ดีกว่าเดิม ภาครัฐจึงจำเป็นต้องสร้างผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถส่งออกได้ให้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทั้งด้วยการสนับสนุนกิจกรรม การสร้างเครือข่าย ตลอดจนการให้ความรู้ที่จำเป็นในด้านต่างๆ เป้นต้น ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว กรมฯและ NEA จึงได้มีการดำเนินโครงการ Smart Exporter หรือโครงการผู้ส่งออกอัจฉริยะ ซึ่งเป็น 1 ในโครงการสำคัญที่จะช่วยสร้างฐานการส่งออกให้กับ SMEs ไทย และเป็นแนวทางการเข้าถึงโอกาสการขยายธุรกิจ และช่องทางการตลาดและนำไปสู่การรวมกลุ่มและการสร้างพันธมิตรทางการค้าในอนาคต

สำหรับโครงการ Smart Exporter มีผู้ผ่านการอบรมมาแล้ว 803 ราย และถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าส่งออกให้กับประเทศมาแล้วกว่า 15,000 ล้านบาท โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 17 มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 53 ราย แบ่งเป็น อาหารและเครื่องดื่มจำนวน 18 ราย ธุรกิจบริการจำนวน13 ราย สุขภาพและความงามจำนวน 12 ราย แฟชั่น/ไลฟ์สไตล์จำนวน 6 ราย และสินค้าอุตสาหกรรมจำนวน 4 ราย เนื้อหาหลักสูตรอัดแน่นไปด้วยสาระและองค์ความรู้ด้านการทำการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่เบื้องต้นไปจนถึงระดับสูง อีกทั้งยังมีการปรับหลักสูตรและวิชาเรียนให้มีความเหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจยุคใหม่ ได้แก่ กลยุทธ์และการวางแผนตลาดระหว่างประเทศ, Branding for Global Market , การบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ , ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการส่งออก , กลยุทธ์การเจาะตลาดต่างประเทศ รวมถึงการให้คำปรึกษาเชิงลึกจากทูตพาณิชย์ไทยประจำต่างประเทศ (กัมพูชา/เวียดนาม/เมียนมา/มาเลเซีย) อีกด้วย

อย่างไรก็ดี นอกจากโครงการ Smart Exporter แล้ว กรมฯ และ NEA ยังมีหลักสูตร และการอบรมสัมมนา เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยตลอดทั้งปีมากกว่า 100 กิจกรรม เช่น หลักสูตรความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจส่งออก โครงการนักส่งออกรุ่นใหม่ (Young Exporter from Local to Global : YELG) โครงการต้นกล้าทูโกล โครงการ 60+ ค้าออนไลน์ขายทั่วโลก การสัมมนาเสริมความรู้ตลาดการค้าต่างประเทศ การฝึกอบรมเทคนิคการเจรจาการค้าระหว่างประเทศสู่ความสำเร็จ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นยอดการส่งออกของไทย รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันสะท้อนแนวคิด "Glow local to global" ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) นายนันทพงษ์ กล่าวปิดท้าย

เมื่อเร็วๆนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ยังได้จัดพิธีปิดการฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร "ผู้ส่งออกอัจฉริยะ : Smart Exporter" รุ่นที่ 17 พร้อมมอบวุฒิบัตรให้กับผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 53 ราย โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานในพิธี ณ ห้องสัมมนา 4 (Auditorium) อาคารสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ถนนรัชดาภิเษกสำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทรศัพท์ 02 507 7999 หรือ nea.ditp.go.th ,facebook.com/nea.ditp

HTML::image( HTML::image( HTML::image(