สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจและนำศาสตร์ด้านการออกแบบมาชุบมูลค่าของเหลือใช้เหล่านี้ให้กลับมาเป็นเพชรเม็ดงามที่มีมูลค่าอีกครั้ง กับโปรเจคดีไซน์ ฟันด์ (Design Fundamental) ที่ถูกออกแบบเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การออกแบบอย่างยั่งยืน และเป็นวิชาพื้นฐานของนักศึกษาภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ ที่หล่อหลอมการมีจิตสาธารณะและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น จากจุดแข็งที่ได้เรียนรู้ตามแนวทางของตน ร่วมเจาะลึก 3 นักศึกษาตัวแทนผู้สร้างผลงานกับไอเดียพลิกโฉมของเหลือใช้สู่งานดีไซน์ไฮแฟชั่น (High Fashion)
นายศุภณัฎฐ์ ตองใจ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะตัวแทนทีมผู้สร้างชิ้นงาน "โคมไฟ" กล่าวว่า แนวคิดหลักในการดีไซน์เกิดจากแหล่งที่ตั้งของชุมชนที่ติดริมทะเล และส่วนใหญ่ชาวบ้านทำอาชีพประมง โดยเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ที่เกิดจากการประกอบอาชีพของชุมชนและมีต้นทุนในการกำจัดสูงอย่าง "อวน" เครื่องมือจับปลาที่ถักเป็นตาข่ายผืนยาว ที่ชำรุดจนไม่สามารถใช้งานในการจับปลาได้อีก ถูกทิ้งไว้โดยไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อ และมีมูลค่าน้อยเมื่อนำมาขายเป็นเศษขยะ นำมาผสมผสานกับการออกแบบแบบเลเยอร์สู่โคมไฟจากของเหลือใช้ โดยตัวผลิตภัณฑ์มีแรงบันดาลใจมาจากแมงกระพรุนที่ให้ความรู้สึกถึงทะเลและสอดคล้องกับอาชีพประมง ผลิตภัณฑ์ "โคมไฟ" เกิดจากสิ่งของที่สามารถหาได้ในชุมชน และสามารถนำมาออกแบบเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้ โดยประยุกต์กับการออกแบบที่มีความน่าสนใจและมีเรื่องราวบอกเล่าในผลงาน เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์และยังเป็นจุดเริ่มต้นการส่งต่อแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แปรรูปวัสดุเหลือใช้ที่สู่การใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจได้จริง
ด้าน นางสาวธัญชนก เกียรติโอภาส นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะตัวแทนทีมผู้สร้างชิ้นงาน "กระเป๋าถัก" กล่าวว่า แนวคิดหลักในการดีไซน์ผลงานกระเป๋าถักมาจากอวนจับปลา ซึ่งทางทีมนำมาเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่อง เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิตและอาชีพประมงอันเป็นอาชีพหลักของผู้คนในชุมชน โดยนำของเหลือใช้คือเศษถุงพลาสติกที่เก็บได้จากการลงพื้นที่ชุมชน เป็นขยะพิษต้นทุนสูงในการกำจัด มาเป็นส่วนประกอบหลักของผลงาน ผนวกกับแนวคิดด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ผลิตเชือกจากถุงพลาสติก (PE) และผ่านกระบวนการออกแบบใหม่ (Re-design) มาถักและมัดเป็นกระเป๋า พร้อมใช้ตัวหนังแท้บุด้านในเพื่อความสวยงามและไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม สู่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับชุมชนได้ จุดเด่นของกระเป๋าถักจากเชือกถุงพลาสติกคือวิธีการถักที่สวยงามและมีลูกเล่น โดยผู้ใช้จะไม่สามารถมองด้วยตาออกเลยว่าผลิตภัณฑ์ผลิตมาจากของเหลือใช้ในชุมชน เนื่องจากผลิตภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ทำมือซึ่งแสดงถึงความประณีตและเป็นการสร้างมูลค่าจากวัสดุท้องถิ่นที่ผ่านกระบวนการแปรรูป โดยมีดีไซน์ที่ทันสมัยเหมาะกับผู้คนในปัจจุบัน นอกจากจะสามารถจุของได้แล้ว ยังสามารถเป็นเครื่องประดับได้อีกด้วย
นอกจากนี้ นางสาวพิมพลอย ทรัพย์เจริญ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะตัวแทนทีมผู้สร้างชิ้นงาน "กระถางอนุบาลต้นไม้" กล่าวว่า แนวคิดหลักในการดีไซน์ หรือDesign idea ที่เริ่มต้นจากความต้องการนำเศษวัสดุธรรมชาติเหลือใช้จากชุมชน มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และกากมะพร้าวเป็นหนึ่งในของเหลือใช้จากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ น้ำหนักเบา อุ้มน้ำ และเก็บความชื้นได้นาน เหมาะสำหรับนำมาผลิตเป็นกระถางต้นไม้ได้ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตนเอง เพื่อใช้ในการเพาะชำต้นไม้และสามารถนำกระถางลงดินได้เลย ผนวกกับแนวคิดด้านการออกแบบที่ได้เรียนรู้จากในคลาสเรียนเกี่ยวกับไบโอ – พลาสติก (Bio-plastic) หรือกระบวนการสร้างพลาสติกขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ นำมาสร้างเป็นกระถางอนุบาลต้นไม้ การใช้วัสดุธรรมชาติเหลือใช้ในชุมชนมาสร้างสรรค์เป็นผลงานในครั้งนี้จะสามารถช่วยลดปริมาณของเหลือไม่ให้กลายเป็นขยะที่มีต้นทุนในการกำจัด และยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นรายได้กับเข้ามาสู่ชุมชนอีกด้วย
อาจารย์ จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาประจำวิชาพื้นฐานการออกแบบ (Design Fundamental) กล่าวว่า หัวใจหลักของการสร้างสรรค์งานดีไซน์เพื่อสังคม คือการพยายามออกแบบเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนและสังคมโลก ยิ่งไปกว่านั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านการออกแบบจะช่วยเพิ่มมูลค่าแม้ว่าสิ่งๆ นั้น จะดูเหมือนไม่มีค่าก็ตาม ดังนั้น กระบวนการจัดการของเสียผ่านการออกแบบวัสดุ หรือ Material Design ที่ได้นำวัตถุดิบซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและบริโภค กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่หรือนำมาใช้ซ้ำ เพื่อช่วยลดปัญหามลภาวะที่เกิดจากขยะ ในรายวิชาพื้นฐานการออกแบบ (Design Fundamental) สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพื่อที่จะฝึกให้นักศึกษาเหล่านี้ ได้ใช้องค์ความรู้ถ่ายทอดแนวคิดและวิธีการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้สู่ชุมชน ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงของนักศึกษาสร้างสรรค์ร่วมกับชุมชนต้นแบบเพื่อฝึกให้นักศึกษาเหล่านี้ได้ใช้องค์ความรู้ที่เรียนมาช่วยแก้ปัญหาของชุมชนได้อย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของการเป็นสถาบันฯ รากฐานนวัตกรรมเพื่อสังคม จากฝีมือคนไทย
"อาจารย์ในฐานะนักออกแบบเอง เราให้นักศึกษามองหาข้อดีจากสิ่งรอบตัว โดยนำองค์ความรู้เกี่ยวกับงานดีไซน์เข้าไปเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือใช้ของชุมชน แทนที่จะต้องเสียต้นทุนในการกำจัด แต่เรากลับได้ผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้ให้กับชุมชนผ่านกระบวนการออกแบบ จึงได้นำแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วย 'ของเหลือใช้' เหล่านี้ กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อฝึกให้นักศึกษาเหล่านี้ได้ใช้องค์ความรู้ที่เรียนมาช่วยแก้ปัญหาของชุมชนอย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของการเป็นสถาบันฯ รากฐานนวัตกรรมเพื่อสังคม จากฝีมือคนไทย"
ทั้งนี้ สจล. ต้องการสร้างนักออกแบบที่ใช้องค์ความรู้โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและมนุษยชาติ การออกแบบให้สวยงามและประณีตสามารถผสมกับการออกแบบเพื่อความยั่งยืนได้ และของเหลือใช้ทุกชิ้นสามารถนำกลับมาใช้ใหม่และเพิ่มมูลค่าได้ การทำงานร่วมกับชุมชนจะเป็นก้าวสำคัญในชีวิตมหาวิทยาลัยของนักศึกษา ที่จะได้เรียนรู้และแบ่งปันภูมิปัญญาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน และเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์จากการนำของเหลือใช้ของการนำกลับมาใช้ใหม่ และเป็นโมเดลการเรียนการสอน ที่บูรณาการศาสตร์การออกแบบดังกล่าว เข้าสู่หลักสูตรของนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อปลูกฝังแนวคิดการเป็นนักออกแบบรับใช้สังคม ประยุกต์ใช้ความรู้ ควบคู่นวัตกรรม สู่การเป็นนักออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต อ.จารุพัชร กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือwww.facebook.com/kmitlnews
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit