สหกรณ์การเกษตรสบปราบ : ต่อยอดธุรกิจ- ปั้นพืชเป็นเงิน

26 Jun 2019
หลักการของสหกรณ์คือ ร่วมคิด รวมผลิต ร่วมทำ เพื่อเป้าหมายหลักคือความยั่งยืน ขนาดของสหกรณ์จะเล็กหรือใหญ่ ไม่สำคัญเท่ากับการร่วมใจ และเมื่อสมาชิกร่วมคิด ร่วมทำธุรกิจสหกรณ์ไปได้ไกล จนวันนี้สหกรณ์การเกษตรสบปราบกำลังนำผลผลิตต่อยอดมูลค่าด้วยนวัตกรรมสินค้าเกษตร เพื่อเป้าหมายคือสร้างรายได้เพิ่มให้สมาชิก
สหกรณ์การเกษตรสบปราบ : ต่อยอดธุรกิจ- ปั้นพืชเป็นเงิน

นางสาวสมคิด บุญแก้ว ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสบปราบ ต.สบปราบ อ.สบปราบ จ.ลำปาง เล่าว่ามีสมาชิกประมาณ 4 พันคน ปัจจุบันสมาชิกสหกรณ์มีเงินฝาก เงินออมประมาณ 700 ล้านบาท เงินกู้ 350 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลจากการร่วมกันคิด และร่วมกันทำของสมาชิกทุกคน โดยแบ่งกันทำงานตามความถนัด ปลูกข้าว ปลูกผัก ผลไม้ ผลิตแล้วสมาชิกขายกันเอง ขายแม่ค้า และบางส่วนมาขายให้กับสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดตลาดเป็น ฟาร์มเมอร์มาเก็ต ริมถนนใหญ่ เพื่อรองรับผลผลิตสินค้าเกษตร จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว ยอดขายสินค้าปีที่ผ่านมาประมาณ 2-3 ล้านบาท ซึ่งผลผลิตที่นี่มีคุณภาพ เพราะปลูกจากดินภูเขาไฟ เร็วๆ นี้สหกรณ์จะโปรโมทข้าวกล้องหอมมะลิแดง และพืชผักที่นี่ว่าเป็นข้าวและผักที่มาจากพื้นที่แอ่งภูเขาไฟ และฟักทองญี่ปุ่นของสบปราบที่อร่อยมาก

สำหรับข้าวกล้องหอมมะลิแดงของสบปราบ ผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะมีบริษัทรับไปแปรรูปปรับปรุงคุณภาพเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ไปแคนาดา และสิงคโปร์ ในขณะที่ผัก ในช่วงใดที่ผลผลิตออกเยอะ จะส่งไปตลาดเครือข่ายเช่นโรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น

นางสาวสมคิด ย้ำว่า สิ่งที่สหกรณ์จะทำต่อไป คือการพัฒนาพื้นที่รองรับการท่องเที่ยว เพราะสหกรณ์อยู่ริมถนนพหลโยธิน เส้นทางหลักของภาคเหนือ โดยจะพยายามสร้างจุดขายและจุดดึงดูดให้เป็นจุดแวะ ช๊อบ ชิม ดื่ม สำหรับต้อนรับ ประชาชนตลอดทั้งปีและในฤดูหนาวจะปั้นให้เป็นจุดเช็ดอินของคนยุคใหม่ โดยขณะนี้ให้สมาชิกช่วยกันถ่ายรูปแปลงผัก ผลไม้สวยๆ ทุ่งข้าวงามๆ บรรยากาศดี เพื่อสหกรณ์จะนำมาโปรโมทในเว็บไซต์ และกระจายไปยังนักท่องโลกที่นิยมหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากฟาร์มเมอร์มาเก็ต ติดตลาด รายได้จะเข้ามายังสมาชิก ต่อเนื่องยั่งยืน ซึ่งสหกรณ์หวังว่า คนไทยจะร่วมกันสนับสนุนและแวะซื้อสินค้าสหกรณ์

"สหกรณ์แห่งนี้ ไม่เน้นกิจกรรมปล่อยเงินกู้ แต่เน้นการส่งเสริมอาชีพ ดังนั้นจะมีสมาชิกแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพ เช่นกลุ่มผู้ปลูกผัก กลุ่มผู้แปรรูป กลุ่มผู้ปลูกข้าว สำหรับ ฟาร์เมอร์มาเก็ต เราถือว่าเป็นอนาคตของสหกรณ์ ซึ่งสร้างมาตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่ต้องการสินค้าดีมีคุณภาพ จึงได้ออกแบบเหมือนห้างโมเดิร์นเทรดมีความทันสมัยตรงใจกลุ่มนักท่องเที่ยว ดังนั้น นอกจากช็อบปิ้งแล้ว ยังมีร้านกาแฟสด ร้านอาหารติดแอร์ นั่ง ชิลๆ สบายๆ ห้องน้ำสะอาด และเราจะสร้างจุดเช็คอิน เพื่อให้คนมาเยือนเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ตั้งของเราอยู่ท่ามกลางภูเขาล้อมรอบ ด้านหลังมีแปลงเกษตร ทั้งผักสวนครัว ผักสลัด เลี้ยงแกะ ม้า ซึ่งวิวนี้เรียกว่า ซื้อของหลักสิบ วิวหลักพันล้าน และเร็วๆ นี้จะเตรียมลงดอกไม้เพื่อต้อนรับฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามา และเตรียมแปลงพืชผักของสมาชิกให้สวยงาม รับท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน "

นอกจากการจำหน่ายสินค้าทั่วไปของกลุ่มแล้ว สหกรณ์ได้มีการต่อยอดมูลค่าสินค้าโดยร่วมกับสถาบันการศึกษาในการวิจัย เพื่อแปรรูปสินค้าผลผลิตจากสมาชิกด้วย ซึ่งสหกรณ์จับมือกับมหาลัยราชมงคลธัญบุรี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปรูปโลชั่นจากมะนาว และสัปปะรด ที่สมาชิกปลูกมาก ก่อนสิ้นปีน่าจะมีผลวิจัยออกมาเพื่อผลิตจำหน่าย เพราะสินค้าเดี๋ยวนี้จะขายดี ขายได้ ต้องมีผลวิจัยรองรับ นอกจากนั้นการแปรรูปผักเชียงดาเป็นสมุนไพรปลอดเชื้อรา การพัฒนาไอครีมจากข้าวกล้องหอมมะลิแดงสบปราบ และข้าวแต๋นเพื่อสุขภาพ

" เราพบว่าสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อจากลำปางมากที่สุดคือ ข้าวแต๋นน้ำแตงโม เราก็มาคิดว่าทำอย่างไรจะเพื่อสุขภาพได้ จะหวานโดยไม่ต้องใช้น้ำตาลทำอย่างไร เรากำลังให้สถานบันการศึกษาช่วยคิด และข้าวแต๋นของเราทำจากข้าว กข 6 และข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้องแดงสบปราบ คาดว่าเร็วๆนี้ ก็จะได้เห็นผลงานกัน"

นางทองอิน แก้วปัน เกษตรกรสมาชิกผู้ปลูกผักบ้านสบปราบ เล่าว่า เธอได้รับการแนะนำจากสหกรณ์ จนผันจากรับจ้างปลูก มาเป็นผู้ปลูกเองเพื่อส่งสหกรณ์ และจากเช่าที่ดินไร่ละ 1,500 บาทต่อปี เธอได้รับการช่วยเหลือจากสหกรณ์ ในการจัดซื้อที่ดินแปลงที่ต้องการให้ และผ่อนชำระ 8 ปี ขณะนี้เธอมีที่ดินเป็นของตนเอง และมีรายได้จากการปลูกผักสวนครัวขายไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน และเกือบทุกวันแม่ค้าจะมารับเองถึงสวน แต่เธอก็จะต้องแบ่งผักส่วนหนึ่งเพื่อจัดส่งให้สหกรณ์ เพื่อทำตลาดด้วยเช่นกัน ผักสวนครัวที่นี่ จะไม่ใช้สารเคมี เน้นทำเกษตรปลอดภัย และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เพื่อนสมาชิกสหกรณ์ผลิตและจำหน่าย โดยผักที่ขายดีและขายได้ตลอดปี คือพริกขี้หนู กะเพรา โหระพา โดยเฉพาะพริกขี้หนู ขายได้ทั้งปี และบางปีราคาแพง ทำให้เธอมีรายได้เพิ่ม สำหรับหนี้สิน เธอบอกว่ายังมีบ้างเพราะต้องส่งลูกเรียน แต่สามารถชำระได้ตามรอบเงินกู้ เพราะเธอมีรายได้ทุกวันและแบ่งเป็นเงินออมและเงินสำหรับใช้หนี้สหกรณ์

นางทองอินบอกว่า ขณะนี้ชีวิตมีความสุขดี เพราะมีที่ดินเป็นของตนเองแล้ว และจากนี้จะไม่ขอไปไหน ขออยู่และทำงานที่บ้านเกิดไม่ไปไหนอีกแล้ว เธอขอบคุณสหกรณ์สบปราบที่มอบความสุขนี้ให้ครอบครัวของเธอ

สหกรณ์การเกษตรสบปราบ : ต่อยอดธุรกิจ- ปั้นพืชเป็นเงิน สหกรณ์การเกษตรสบปราบ : ต่อยอดธุรกิจ- ปั้นพืชเป็นเงิน