นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ. ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตอุตสาหกรรมและกรมสรรพสามิต ได้เชิญบริษัทผู้ผลิตและผู้นำเข้ารถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศ มาประชุมชี้แจงแนวทางและแผนการดำเนินการจัดทำระบบป้ายแสดงข้อมูลรถจักรยานยนต์ตามมาตรฐานสากล (ECO Sticker) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ซึ่งผลการหารือสรุปได้ว่า สศอ. จะเร่งดำเนินการจัดทำระบบ ECO Sticker ของรถจักรยานยนต์ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยระบบจะพร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการและสามารถเริ่มลงทะเบียนออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 จากนั้น สศอ. จะจัดสัมมนา (Workshop) เตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ ในการยื่นขออนุมัติป้าย ECO Sticker ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 และผู้ประกอบการจะสามารถเริ่มยื่นขออนุมัติป้าย ECO Sticker ผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป เบื้องต้นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประชุมพร้อมให้ความร่วมมือในการติดป้าย ECO Sticker บนรถจักรยานยนต์ รุ่นใหม่ที่จะนำมาแสดงในงาน Motor Expo ในช่วงต้นเดือนธันวาคม และจะต้องติดป้าย ECO Sticker บนรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ทุกคันก่อนส่งมอบให้ตัวแทนจำหน่ายเพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
นายณัฐพล กล่าวว่า การพัฒนาระบบ ECO Sticker รถจักรยานยนต์ สศอ. ได้ใช้แนวคิดและหลักการดำเนินการแบบเดียวกับระบบ ECO Sticker รถยนต์ ซึ่งเป็นการให้บริการของภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ (Digital Government) โดยได้ใช้งานมาแล้วกว่า 5 ปี และดำเนินการพัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัจจุบันระบบ ECO Sticker รถยนต์มีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ทำให้มั่นใจได้ว่า สศอ. จะใช้แนวทางเดียวกันในการพัฒนาระบบ ECO Sticker ของรถจักรยานยนต์ให้มีความสมบูรณ์ที่สุด และพร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ตามแผนอย่างแน่นอน
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ขอย้ำให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องติดป้าย ECO Sticker บนรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ทุกคันก่อนที่จะจำหน่ายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญของรถจักรยานยนต์ โดยข้อมูลในป้ายจะบ่งบอกคุณลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ สมรรถนะของรถจักรยานยนต์ (อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อัตราการใช้น้ำมัน มาตรฐานมลพิษ มาตรฐานความปลอดภัย) ข้อมูลพื้นฐานของรถจักรยานยนต์ ข้อมูลผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ราคาขายปลีกแนะนำ และอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคและประชาชนถูกหลอก ตลอดจนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของรถจักรยานยนต์แต่ละรุ่น โดยพิจารณาจากสมรรถนะในด้าน "สะอาด ประหยัด และปลอดภัย" ได้
ทั้งนี้ อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อัตราการใช้น้ำมัน และมาตรฐานมลพิษ จะต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานมลพิษของรถจักรยานยนต์ตาม มอก. 2915-2561 เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งต้องใช้ยางล้อรถจักรยานยนต์ที่ผ่าน มอก. 2720-2560 ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของการใช้รถจักรยานยนต์บนท้องถนนอีกด้วย