กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงาน ผ.ผักกินดี ลด น.เนื้อ เพื่อ ล.โลก ขึ้น ร่วมกับ Krua.co สำนักพิมพ์แสงแดด เพื่อเดินหน้าผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงนิเวศและการผลิตที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนให้ร่วมลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และหันมาบริโภคอาหารที่ทำจากพืชผักอย่างน้อยสองมื้อต่อสัปดาห์ เพื่อสุขภาพของทุกคนและความอุดมสมบูรณ์ของโลก เนื่องจากการทำปศุสัตว์เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคปศุสัตว์นั้นมากพอ ๆ กับก๊าซเรือนกระจกที่มาจากรถยนต์ รถบรรทุก เครื่องบิน และเรือทั้งหมดทั่วโลกรวมกัน [1]
ระบบอาหารในปัจจุบัน โดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ สร้างผลกระทบมากที่สุดในกระบวนการผลิตอาหาร กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ ครอบคลุมถึงการทำลายผืนป่า การใช้สารเคมีอันตราย ก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และก่อมลพิษทางอากาศและน้ำเสีย นอกจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์นั้นจะใช้ที่ดินจำนวนมากแล้ว ยังใช้พื้นที่มหาศาลเพื่อเพาะปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (หรือ FAO) ระบุว่า ร้อยละ 30 ของพืชที่ปลูกทั่วโลกถูกป้อนไปเลี้ยงอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์[2] และมีการใช้ยาปฏิชีวนะกว่า 60,000 ตันต่อปี [3]
"ปัญหาโรคติดเชื้อดื้อยา และการตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ เป็นวิกฤตที่องค์การอนามัยโลกยกให้เป็นความเร่งด่วนทางสุขภาพของปี 2562 ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน นี่คือความล้มเหลวของระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมที่กำลังคุกคามสุขภาวะของคนไทย โดยที่ประเทศไทยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 19,122 ราย [4] ทางออกที่ภาครัฐสามารถดำเนินการได้คือ กำหนดนโยบายนโยบายการเปิดเผยข้อมูลของการเลี้ยงสัตว์และการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ ผ่านทางฉลากบนผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ เพื่อคืนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและการเลือกบริโภคของประชาชน"รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
"เชื้อดื้อยาเป็นเชื้อโรคที่สามารถยับยั้งการทำงานของยาปฏิชีวนะได้ ทำให้การรักษาผู้ป่วยไม่ได้ผลดีดังเดิม การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนของการใช้ยาเพื่อรักษา และการใช้ในการเลี้ยงสัตว์ส่งผลให้เกิดการตกค้างของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมและอาหาร สิ่งเหล่านี้คือวิกฤติสุขภาพที่หากไม่มีการปรับเปลี่ยนและควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม ยาปฏิชีวนะที่เคยช่วยรักษาและช่วยชีวิตคนได้ ก็อาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไปและเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากขึ้น ไม่ต่างจากการกลับไปยังยุคมืดที่ยังไม่มีการคิดค้นเพนิซิลลิน" รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ – โรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี กล่าว
"มีความเข้าใจที่ไม่ค่อยจะถูกนักว่า การบริโภคแต่ผักผลไม้จะได้สารอาหารไม่ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ จริงๆแล้วผักและธัญพืชหลายชนิดอุดมไปด้วยโปรตีนที่มีคุณภาพ เพียงแค่เราในฐานะผู้บริโภคจะเลือกสรรและปรุงให้เป็นเท่านั้น และนอกจากประโยชน์แล้ว การกินผักและลดเนื้อสัตว์ลงยังเป็นการกินเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก เราในฐานะสิ่งมีชีวิตหนึ่งในโลกใบนี้ น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมากินเพื่ออนาคตของเรา" เชฟน่าน หงษ์วิวัฒน์ จาก KRUA.CO สำนักพิมพ์แสงแดด
ภายในงานมีกิจกรรมเวิร์กช็อป "อาหารจานผักสำหรับเด็ก ๆ" เมนูเวจจี้ เทมากิ โดย เชฟน่าน หงษ์วิวัฒน์ ซึ่งเป็นอีกเมนูผักที่สามารถดึงดูดเด็ก ๆ ให้หันมากินผักมากขึ้นได้ และรู้สึกสนุกกับการกินผักมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เสริมสร้างโภชนาการ [5] และเรียนรู้ประโยชน์ของผักตั้งแต่วัยเยาว์
กรีนพีซจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความเชื่อมโยงของการทำปศุสัตว์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำเสนอประโยชน์ที่จะได้จากการกินอาหารที่ทำจากพืชผักเป็นหลัก อ่านข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่มาจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศและยั่งยืนได้ที่ รอhttps://act.gp/2FqV82F
หากไม่เริ่มเปลี่ยนการกินอาหาร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปศุสัตว์อาจส่งผลให้โลกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสได้
หมายเหตุ
[1] IPCC 2014: Smith, P., et al. 2014. Agriculture, Forestry and Other Land-Use (AFOLU)
[2] www.fao.org/3/y5019e/y5019e03.htm
[3] www.fao.org/3/a-i7138e.pdf
[4] www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5030096/
[5] เอกสาร ผ.ผักกินดี รวบรวมคุณค่าสารอาหารที่มาจากพืชผัก
[6] รายงาน ลดเพื่อเพิ่ม "ลด" เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรม "เพิ่ม" สุขภาวะที่ดีของมนุษย์และโลก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit